องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ร้อง “กมธ.ป้องกันการฟอกเงินฯ” ขอตรวจสอบสถานะ “มาตรการ PEP” หรือ “บุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง” พบความจริงถูก “ปปง.” ยกเลิกตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลให้การตรวจสอบเส้นทางเงินสกปรกและการตรวจจับคนโกงทำได้ยาก ด้าน “ปปง.” เผยพร้อมทำทุกอย่างให้กลับมาถูกต้องภายในกลางปี 2568 นี้
เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2568 นายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แนวทางหนึ่งในการป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่มีประสิทธิผล ได้แก่ การใช้มาตรการทางกฏหมาย ล่าสุด เฉพาะกฎหมายฟอกเงินยังติดขัดเรื่องมาตรการ PEP (Politically Exposed Persons) ในประเด็นการนิยาม “บุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง” ที่จะบังคับใช้กับคนที่เป็นนักการเมือง เจ้าหน้าที่ระดับสูง ศาล องค์กรอิสระ ทหาร ตำรวจ ฯลฯ ทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ องค์กรฯจึงได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป้องกันการฟอกเงินฯ) ขอตรวจสอบโดยหลังจาก กมธ.ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.พบว่า เคยมีการใช้ในปี 2556 แต่มีการยกเลิกในปี 2563 จริง
“ปปง. ได้ให้คำมั่นสัญญากับองค์กรฯว่า พร้อมทำทุกอย่างให้กลับมาถูกต้องภายในกลางปี 2568 นี้ เพราะได้ศึกษาเตรียมพร้อมแล้ว” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวและว่า
มาตรการดังกล่าวกำหนดให้ธนาคารและผู้ประกอบธุรกิจบางประเภท เช่น ที่ปรึกษาการลงทุน ร้านค้าทองคำ ฯลฯ ต้องตรวจสอบพฤติกรรมการเงินของบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง หากพบกรณีต้องสงสัยให้รายงานต่อ ปปง. ทันที ข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็นหลักฐานการเงิน (Digital Footprint) ที่สามารถใช้สืบสาวเส้นทางของเงินตรวจสอบย้อนหลัง เป็นหลักฐานดำเนินคดีฟอกเงินและคดีอาญาได้
“มาตรการนี้ชี้เป้าได้เลยว่า ในแต่ละวันรัฐมนตรี อธิบดี ทหาร ตำรวจคนไหนมีเงินโอนเข้าออกบัญชีธนาคารนำเงินไปลงทุน หรือซื้อขายทรัพย์สินราคาแพงอะไร ที่ไหนบ้าง แน่นอนว่า เงินบาปจากส่วย สินบน ซื้อขายตำแหน่ง ค้าแป้ง ค้ามนุษย์ ฯลฯ แม้จะจ่ายกันเป็นเงินสด สุดท้ายก็ต้องนำเข้าบัญชีธนาคารก่อนโอนกระจายให้ผู้อื่นเป็นทอดๆ ไป จะเปลี่ยนเป็นเงินคริปโต ซื้อทองคำ หรือสุดท้ายเมื่อเปลี่ยนเงินคริปโตเป็นเงินสดก็ต้องเข้าบัญชีธนาคารอยู่ดี”
ผลจากการยกเลิกมาตรการนี้ ทำให้ธนาคารไม่ต้องตรวจสอบ PEP ที่เป็นคนไทยอีกต่อไป คงไว้แต่การตรวจสอบ PEP ที่เป็นคนช่างชาติเท่านั้น
ต่อข้อสงสัยว่าทำไมระหว่างปี 2556 – 2563 ที่มีใช้มาตรการนี้ กลับไม่ปรากฏการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายฟอกเงินเลย อาจเพราะมาตรการนี้เป็นเรื่องใหม่และผู้มีอำนาจจงใจให้กฎหมายมีช่องโหว่ด้วยการไม่กำหนดให้ชัดเจนว่า บุคคลในตำแหน่งใดบ้างที่จะต้องถูกตรวจสอบ ที่แย่กว่านั้นคือ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต่างเกรงใจไม่กล้าตรวจสอบคนมีอำนาจในรัฐบาล ทำให้บุคคลอื่นที่มีตำแหน่งสูงๆ พลอยได้รับประโยชน์ไปด้วย
ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันกล่าวอีกว่า องค์กรฯมั่นใจว่า หากใช้มาตรการตรวจสอบพฤติกรรมการเงินของ ปปง. ควบคู่การตรวจสอบบัญชีบัญชีทรัพย์ฯ ของ ป.ป.ช. และการตรวจสอบการเสียภาษีรายได้ประจำปีของกรมสรรพากรจะทำให้การตรวจจับคนโกงมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรฯ หวังเห็นผลสัมฤทธิ์ตามที่ปปง.ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้
อนึ่ง เมื่อเร็วๆนี้ มีการเผยแพร่ดัชนีความเสี่ยงด้านอาชญากรรมทางการเงินและเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นใน 177 ประเทศทั่วโลก พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 127 ได้คะแนน 2.53 คะแนน ทั้งนี้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่เรียกว่ากำลังปฏิรูปมาตรการ (Reactive Reformers) ซึ่งทางบริษัท Secretariat ผู้จัดทำและเผยแพร่ ระบุว่าประเทศที่อยู่ในกลุ่มนี้มีคุณลักษณะ 4 ประการคือ 1.การบังคับใช้และการกํากับดูแลที่อ่อนแอ 2.กรอบการกํากับดูแลที่ไม่สอดคล้องกัน 3.ความโปร่งใสทางการเงินที่จํากัด และ 4.มาตรการการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (AML) ที่ล้าสมัย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ