อ่างขางปลายทางฝันของนักดูนก 'คนเมา-ขยะ'แค่เรื่องรกใจของเรา ปีใหม่ถึงปี๋ใหม่ความสุขที่แตกต่าง

ราชพล เหรียญศิริ ศูนย์ข่าว TCIJ 12 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 6478 ครั้ง

 

สำหรับผมทุกสิ้นปีคือความใหม่เสมอ หนึ่งปีจะได้กลับบ้านสักหนแถมยังเป็นช่วงฤดูหนาว นี่คือช่วงเวลาที่วิเศษที่สุดของเชียงใหม่ โดยเฉพาะคนที่ชื่นชอบการดูนกและถ่ายภาพนก เพราะตั้งแต่ประมาณเดือน ตุลาคมจนถึงเมษายน ของทุกปี จะมีนกอพยพนานาชนิด อพยพหนีหนาวมาพักอยู่ที่นี่ บ้างก็มาผสมพันธุ์วางไข่เลี้ยงลูก บ้างก็มาอาศัยหากินในช่วงที่ถิ่นอาศัยเดิมอาหารขาดแคลนจากสภาพอากาศอันหนาวเย็น

 

เมื่อนกมีมากมายขนาดนี้ ผมกับเพื่อนที่เชียงใหม่รวมถึงเพื่อนผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพนกจากกรุงเทพฯ ได้นัดหมายกัน มุ่งหน้าสู่ดอยอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ โดยเพื่อนจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าไปรออยู่ก่อนตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น ส่วนผมกับเพื่อนในฐานะเจ้าบ้านตามไปสมทบในช่วงบ่าย เมื่อไปถึงก็มุ่งหน้าสู่สถานีเกษตรดอยอ่างขางในทันที  ทริปนี้เราตั้งเป้าที่จะอยู่บนดอยกันสามวัน

 

 

 

 

 

 

 

.......................................................................................

 

วันที่หนึ่ง

 

เมื่อไปถึงผมและเพื่อนก็เข้าไปสมทบกับเพื่อนจากกรุงเทพฯ เป้าหมายแรกของทริปนี้ก็คือ จุดดูนกใกล้สวน 80 พรรษา เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงมีช่างภาพนกทั้งมืออาชีพ มือสมัครเล่นมาตั้งบังไพรซุ่มถ่ายนกกันอยู่ก่อนแล้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ต้องทำตามมารยาทนะครับ รอตามคิวครับ

 

 

แล้วก็ถึงคิวของพวกเรา ตามมารยาทก่อนจะเข้าไปต้องดูให้แน่ชัดว่าคนที่ถ่ายภาพอยู่ก่อนนั้นยุติการถ่ายแล้ว และนกออกจากพื้นที่แล้ว จึงเดินเข้าไป เพื่อกลางบังไพรและรีบเข้าบังไพรให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้นกตื่นตกใจ หมายนกหมายนี้พวกเราคาดหวังว่า จะเก็บภาพนกที่พวกเราต้องการ อย่างที่หวังกันทุกคน นั่นก็คือ นกเดินดงพันธุ์ญี่ปุ่น, นกเดินดงอกดำ และนกเดินดงลายเสือ

 

เมื่อทุกคนเข้าบังไพรหมดแล้ว บรรยากาศโดยรอบก็เงียบสงบลงในทันใด ไม่มีเสียงพูดคุย มีแต่เสียงการปรับโฟกัสและเสียงชัตเตอร์ทดลองถ่าย เพื่อหาสภาพแสงที่ดีที่สุด ระหว่างรอนกออกจากที่ซ่อนกลับมาหากินยังจุดที่เราซุ่มอยู่ นั่งซุ่มกันได้สักพัก นกตัวแรกก็บินลงมาปรากฎตัวให้ได้ชื่นใจ นกตัวแรกที่บินมาเข้าทางเลนส์ในวันนี้คือ นกเดินดงอกดำ 

 

นกเดินดงอกดำ  (Black-breasted Thrush)

 

โดยปกติเป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ที่สามารถพบเจอได้ที่ดอยอ่างขาง แต่ไม่กี่ปีมานี้ มีการพบนกเดินดงอกดำ พาลูกนกที่เพิ่งออกจากรังออกหากินด้วย นั่นหมายถึงได้มีการเข้ามาสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ที่ดอยอ่างขางนั่นเอง

 

นกเดินดงอกดำ (Black-breasted Thrush) จะมีหัวและอกเป็นสีดำสีดำเฉพาะเพศผู้เท่านั้น ลักษณะเด่นอีกประการของมันคือสีส้มสดที่อกและข้างลำตัว ปีกและหลังสีเทาเข้ม ปากและวงตาสีเหลือง นกเพศเมียมีหัวสีน้ำตาล คอสีขาว มีลายสีดำที่คอและอก หลังสีน้ำตาลอมเทา สีส้มที่ด้านใต้ลำตัวจางกว่าเพศผู้ นกวัยเด็กมีสีสันคล้ายตัวเมียแต่มีลวดลายตามลำตัวมากกว่า นกวัยรุ่นมีสีสันคล้ายนกโตเต็มวัย แต่ขอบขนปีกมีแต้มสีจาง ส่วนเพศผู้ที่ยังโตไม่เต็มวัยจะยังคงมีลายขีดสีขาวที่คอและใบหน้า ทำให้สามารถแยกจากนกเต็มวัยได้ไม่ยาก

 

 

นกเดินดงอกดำ ตัวผู้เต็มวัย Black-breasted Thrush

 

 

นกเดินดงอกดำ ตัวผู้ยังไม่เต็มวัย Black-breasted Thrush

 

 

นกเดินดงอกดำ ตัวเมีย Black-breasted Thrush

 

 

ความเงียบกลับกลายเป็นความโกลาหลขึ้นมาในทันที เมื่อเสียงชัตเตอร์ของกล้องทั้งสามตัวที่ทำงานแทบจะพร้อมกัน แผดเสียงรัวราวกับปืนกล ทำให้นกหยุดและหัมมามองตามเสียงอยู่ครู่หนึ่ง แต่ก็แค่ครู่เดียวจากนั้นก็หากินต่อตามเดิม ไม่นานนกตัวที่สองที่เราหมายจะถ่ายภาพให้ได้ ก็บินโฉบลงมา ไล่ตีเจ้าถิ่นเดิมที่หากินอยู่ก่อนแล้วให้ออกไปจากพื้นที่ ซึ่งก็คือนกเดินดงลายเสือนั่นเอง

 

 

นกเดินดงลายเสือ  (Scaly Thrush)

 

เป็นนกเดินดงที่มีลายพร้อยไปทั้งตัวดูสวยแปลกตา ขนคลุมลำตัวด้านบนมองดูคล้ายเกล็ดสีเขียวอมทองมีขอบเกล็ดสีดำ ขณะที่ลำตัวด้านล่างคล้ายเป็นเกล็ดสีขาวขอบเกล็ดรูปพระจันทร์เสี้ยวสีดำ หางสีน้ำตาล นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน แต่นกตัวเมียจะมีปากสีเหลืองอมน้ำตาลเข้มกว่าตัวผู้ มักพบหากินแมลงหรือหนอนตามพื้นดิน หรืออาจพบหากินผลไม้สุกเล็กๆ บนยอดไม้ หรือกินน้ำหวาน สามารถพบนกชนิดนี้ได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบเขา ที่มีต้นไม้ใหญ่ พื้นป่ามีความชื้นสูง มีมอสและเฟิร์นขึ้น

 

 

นกเดินดงลายเสือ Scaly Thrush

 

 

ด้วยความที่เป็นนกขนาดใหญ่กว่านกเดินดงพันธุ์อื่นๆ จึงสามารถยึดคลองพื้นที่หากินได้นานกว่า แต่ไม่มีอะไรยั่งยืนและถาวร เมื่อนกเดินดงพันธุ์ญี่ปุ่นบินเข้ามาขอส่วนแบ่งพื้นที่หากินบ้าง เมื่อขอกันดีดีไม่ยอมแบ่งให้ ก็ต้องใช้กำลังกันบ้าง ภาพที่เห็นคือนกเดินดงพันธุ์ญี่ปุ่นที่ตัวเล็กกว่า กระโดดเข้าตี จนเจ้าถิ่นเดิมต้องยอมถอยออกไป และแล้ว นกตัวใหม่ก็เข้ายึดครองพื้นที่

 

 

ผมไม่รู้ว่าเพื่อนคนอื่นจะมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง เมื่อได้เห็นบรรดานกในฝันโฉบลงมาหากินอยู่ตรงหน้า ใกล้จนแทบจะเอื้อมมือไปจับได้ แต่สำหรับผมแม้จะยังคงนั่งนิ่ง เล็งและถ่ายภาพต่อไป แต่ในใจนั้นลิงโลดเป็นอย่างยิ่ง เหมือนเด็กได้ของเล่นใหม่ก็ไม่ปาน

 

 

นกเดินดงพันธุ์ญี่ปุ่น (Japanese Thrush)

 

เป็นนกที่ถูกพบและจำแนกชนิดครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น และเป็นนกอพยพที่มีรายงานการพบไม่บ่อยนักในประเทศไทย นกตัวผู้และนกตัวเมียมีสีของขนแตกต่างกันอย่างชัดเจน นกตัวผู้มีหัว ไหล่ หลัง ปีก หาง อก สีดำ ท้องสีขาวมีจุดสีดำเรียงเป็นแนวลงไปตามแนวยาวของลำตัว จุดที่อยู่ใกล้ขอบสีอ่อนกว่าบริเวณอื่น มีวงรอบตาเป็นเนื้อสีเหลือง ปากช่วงปลายฤดูร้อนถึงต้นฤดูฝนเป็นสีเหลือง ช่วงฤดูหนาวถึงฤดูร้อนเป็นสีน้ำตาล หรือน้ำตาลอ่อน จงอยปากบนสีเข้มกว่าจงอยปากล่าง ขาและนิ้วเท้าสีเหลืองอ่อน

 

 

ส่วนนกตัวเมียมีสีเขียวมะกออกอมน้ำตาลแทนที่ส่วนที่เป็นสีดำในนกตัวผู้ วงรอบตาสีเหลืองอ่อนหรือสีเนื้อ  อาหารของนกชนิดนี้ได้แก่แมลง หนอนต่าง ๆ และะลูกไม้ป่าสุกขนาดเล็ก โดยจะหากินตามพื้นดินที่มีน้ำขังแฉะซึ่งมีเหยื่อชุกชุม ใกล้แหล่งน้ำ และพุ่มไม้ต่ำใกล้พื้นดิน นกอาศัยตามป่าดิบเขาจากที่ราบจนถึงความสูง 1800 เมตรจากระดับน้ำทะเล สามารถพบได้ทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น ภาคกลางและตะวันออกของจีน ในฤดูหนาวนกในจีนและในญี่ปุ่นบางส่วนจะอพยพหนีหนาวลงมาหากินทางใต้ของจีน ภาคเหนือและกลางของเวียตนาม บางตัวลงมาถึงภาคเหนือและภาคกลางของลาว จำนวนน้อยมากเดินทางมาประเทศไทยในปีที่มีอากาศหนาวมากและยาวนาน

 

 

 

นกเดินดงพันธุ์ญี่ปุ่น  ตัวผู้ยังไม่โตเต็มวัย Japanese Thrush Male

 

 

ใช้เวลาถ่ายนกสามชนิดนี้ไปกว่าสามชั่วโมง เมื่อออกจากบังไพรก็เกือบจะห้าโมงเย็นแล้ว จึงถอนตัวออกจากพื้นที่เพื่อกลับไปที่จุดกางเตนท์  เมื่อกลับมาถึงที่พักก็ต้องตะลึงกับคลื่นคนจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลกันมาซึมซับอากาศหนาวเย็นบนยอดดอย ที่สูงเสียดฟ้าแห่งนี้ แต่ยังนับว่าโชคดีที่พวกเรากางเตนท์จองที่ทางไว้ก่อน

 

 

เวลาเดินหน้าไปเรื่อย ๆ ผมและเพื่อนก็จัดการกับอาหารเย็น ที่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากแม่บ้านผู้ใจดีของเพื่อนจัดเตรียมไว้ให้ มื้อเย็นมื้อนั้นจึงผ่านไปด้วยความเอร็ดอร่อย ด้วยความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง พวกเราจึงแยกย้ายกันเข้านอนตั้งแต่ยังไม่ถึงสามทุ่ม ผ่านไปไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง มีกลุ่มวัยรุ่นเดินทางมาถึงในสภาพที่เมากันมาได้ที่แล้ว เมื่อรถจอดสนิทวัยรุ่นจำนวนหนึ่งคันรถกระบะก็กรูกันลงมาจากรถ เพื่อหาพื้นที่กางเตนท์ ผมภาวนาให้ไปกางเตนท์ที่อื่นไกล ๆ แต่ผมคงทำบาปไว้เยอะ คำภาวนาของผมไม่เป็นผล หมายกางเตนท์ของวัยรุ่นกลุ่มนี้ก็คือพื้นที่ตรงกันข้ามกับจุดกางเตนท์ ของพวกผมนั่นเอง แต่ต้องขอบคุณน้อง ๆวัยรุ่นกลุ่มนั้นอย่างยิ่งนะครับ ที่ทำให้ผมได้รับความบันเทิงอย่างเต็มที่ทั้งคืน แต่ถ้าจะให้ดีถามผมสักคำก่อนก็ดีว่า คนอื่น ๆ ต้องการความบันเทิงด้วยไหม คงเดากันออกนะครับว่าเกิดอะไรขึ้นในคืนที่ทุกข์ทรมานคืนนั้น

 

..........................................................................................

 

 

วันที่สอง

 

เป็นหนึ่งวันเต็มที่ตั้งใจว่าจะถ่ายรูปนกให้ได้มากที่สุด โดยเริ่มจากการกลับเข้าไปถ่ายซ่อมที่หมายเดิมที่ถ่ายไปแล้วเมื่อวันแรก หลังจากถ่ายซ่อมกันจนได้ภาพที่พอใจกันแล้ว โชคก็เข้าข้างพวกเราบ้าง ขณะที่ทุกคนเตรียมจะออกจากบังไพรเพื่อย้ายไปที่หมายอื่นนั้น ก็มีนกสีสันสวยงามตัวหนึ่งโฉบลงมาเกาะที่กิ่งไผ่ไกล้กับจุดที่เราซุ่มอยู่ นกเกาะเอียงคอซ้ายทีขวาทีเพื่อสังเกตและฟังเสียงหาสิ่งผิดปกติอยู่ครู่หนึ่ง ก็โฉบลงพื้นเพื่อหากิน ไม่ต้องมีการส่งสัญญาณใดๆ ทั้งสิ้น เสียงชัตเตอร์จากกล้องแต่ละตัวก็แผดเสียงรัวลั่นอย่างไม่ได้นัดหมาย ก็สีสันของนกตัวนี้มันสดใสเหลือเกิน ใครจะอดใจไหว

 

 

นกนิลตวาท้องสีส้มคอดำ (Rufous-bellied Niltava)

 

นกชนิดนี้จากหนังสือ Thailand Birds Guide อธิบายไว้ว่า คือนกจับแมลงที่มีลำตัวอวบอ้วนหนาและปากสั้น ปากและขาสีดำ  ตัวผู้กระหม่อม ลำตัวด้านบน และหางมีสีน้ำเงินเหลือบ หน้าและคอสีดำ ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลแดงอมส้มสด ตัวเมีย ลำตัวด้านบนสีไพลอมน้ำตาล ปีกและหางมีสีน้ำตาลแดงเข้มกว่านกนิลตวาชนิดอื่นๆ คอมรแถบสีขาวขนาดใหญ่ต่อด้วยแถบสีฟ้าตรงข้างคอ เป็นนกอพยพที่มักพบเห็นเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ระดับต่ำ และโฉบลงมาจับกินแมลงบนพื้น บางครั้งก็กินผลไม้ด้วย

 

 

 

 

นกนิลตวาท้องสีส้มคอดำ Rufous-bellied Niltava

 

 

ถ่ายภาพกันจนเพลินเหลือบดูเวลาอีกทีก็เกือบจะเที่ยงวันแล้ว จึงถอนตัวออกจากหมายเพื่อออกไปหาเติมพลัง เมื่อสืบเสาะกันจนได้ความแล้วว่าที่ไหนมีอาหารอร่อยแถมสามารถถ่ายนกไปพร้อมๆกันได้ พวกเราจึงมุ่งหน้าสู่ “บ้านหลวงรีสอร์ท” เมื่อไปถึงด้วยความหิวก็มุ่งหน้าสู่ร้านอาหารในทันที แต่ผมคงทำบาปไว้เยอะ ครัวปิด มื้อกลางวันของพวกเราจึงต้องจบลงด้วย มาม่าคัพ ใช้เวลาจัดการกับมาม่าในถ้วยไม่นาน ก็มีนกบินมาเกาะที่ต้นไม้ถัดจากจุดที่พวกเรานั่งอยู่ไม่ไกล เหมือนรู้หน้าที่ครับ แต่ละคนต่างก็คว้ากล้องวิ่งเข้าหาตำแหน่งที่ตนเองจะได้ภาพในมุมที่ดีที่สุดได้ และแล้วก็ได้ภาพนี้มา นกปรอดเทาหัวขาว หลังจากเกาะนิ่ง ๆให้ถ่ายอยู่ครู่หนึ่งก็คงเริ่มรู้ตัวว่ามีคนแอบถ่ายรูปตัวเองอยู่ ในที่สุดเจ้านกก็บินจากไป

 

 

นกปรอดเทาหัวขาว White-heade Bulbul

 

 

เมื่อไม่มีนกให้ถ่ายแต่ละคนก็เริ่มว่าง ออกเดินเตร็ดเตร่สำรวจพื้นที่ไปทั่ว ครู่หนึ่ง เพื่อนผมคนหนึ่งก็เดินจ้ำเข้ามาบอกว่า พบนกอะไรไม่รู้สีน้ำเงิน ตัวไม่ใหญ่มาก พอได้ยินดังนั้นแต่ละคนต่างก็วิเคราะห์กันไปต่าง ๆนานา เพราะนกตัวสีน้ำเงินขนาดไม่ใหญ่มากก็มีอยู่ไม่กี่ชนิด เลยตกลงกันว่านั่งบังไพรดูกันดีกว่าว่าเป็นนกอะไร

 

เมื่อทุกคนเข้าบังไพรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ครู่ใหญ่ก็มีนกโฉบลงมาเกาะที่กิ่งไม้ข้างหน้าบังไพรที่พวกเรานั่งซุ่มกันอยู่ ซึ่งก็เป็นนกตัวที่มีขนออกสีน้ำเงินอย่างที่เพื่อนผมบอกจริง ๆ นั่นคือ นกนิลตวาใหญ่

 

 

นกนิลตวาใหญ่  (Large Niltava)

 

คำว่านิลตวานี้ฟังดูเผินๆ อาจคล้ายคำภาษาไทย โดยเฉพาะคำว่า “นิล” ในพยางค์แรก และสำหรับคนที่ทราบว่าพวกมันเป็นนกทางภาคเหนืออาจอดคิดไม่ได้ว่า 2 พยางค์หลังนั้นฟังดูคล้ายคำว่า “ตะวา” ในภาษาเหนือที่แปลว่า “เมื่อวาน” แต่ความจริงแล้วชื่อ “นิลตวา” เป็นคำภาษาเนปาลที่ใช้เรียกนกจำพวกนี้ และนักปักษีวิทยาได้หยิบยืมมาใช้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของพวกมัน สำหรับในประเทศไทย เนื่องจากไม่พบชื่อท้องถิ่นที่ใช้เรียกนกกลุ่มนี้อย่างเจาะจง จึงเรียกชื่อนกชนิดนี้ทับศัพท์ตามชื่อทางวิทยาศาสตร์ไปเลย

 

นกนิลตวาเพศผู้มักมีสีน้ำเงินเข้มเป็นลักษณะเด่น และมีสีฟ้าสะท้อนแสงในบางจุดช่วยเพิ่มความงดงาม ทำให้เป็นนกจับแมลงซึ่งมีสีสันสะดุดตาที่สุดกลุ่มหนึ่ง อย่างไรก็ตาม นกนิลตวาเพศเมียมักมีสีน้ำตาลเกือบทั้งตัว และมีจุดสีฟ้าประดับเพียงจุดเล็ก ๆ นกนิลตวาใหญ่เพศผู้มีสีน้ำเงินเข้มขรึมทั้งตัว และมีสีฟ้าเงางามจากกระหม่อมลงมาถึงข้างคอ คล้ายกับหมวกสีสดใส ซึ่งจะเห็นชัดเป็นพิเศษเวลาแสงส่องกระทบ และด้วยรูปร่างที่ดูใหญ่บึกบึนกว่าเพื่อน นกนิลตวาใหญ่จึงดูสง่าเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับนกจับแมลงชนิดอื่น

 

 

นกนิลตวาใหญ่ ตัวผู้  Large Niltava Male

 

 

นกนิลตวาใหญ่ ตัวเมีย Large Niltava Female

 

 

ไม่มีใครสนใจเรื่องเวลากันเลย ต่างคนต่างก็มุ่งมั่นและมีสมาธิกับการถ่ายนกที่ลงมาหากินอยู่ตรงหน้า กว่าจะเลิกถ่ายกันได้พระอาทิตย์ก็เกือบลับขอบฟ้าไปแล้ว เรียกว่าถ่ายกันจนแสงหมดเลยทีเดียว หลังจากเพลิดเพลินกันจนเลยเวลาพวกเราก็มุ่งหน้ากลับที่พัก คืนนั้นก็เป็นอีกหนึ่งคืนที่ผมได้เพลิดเพลินกลับเสียงเพลงขับกล่อมจากวงเหล้าที่ตั้งวงดื่มอยู่ไม่ไกลอย่างไม่เต็มใจนัก

 

...........................................................................................................

 

 

วันที่สาม

 

วันนี้พวกเราตื่นกันตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น เพราะต้องเก็บของเตรียมตัวเดินทางกลับ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เราต้องการแวะไปถ่ายภาพนก ณ หมายถ่ายนกอีกแห่งก่อนกลับเข้าเมืองเชียงใหม่ด้วย

 

เราเก็บของเสร็จพร้อมกับที่แสงแรกของวันสาดส่องมาพอดี  ซึ่งเป็นที่รู้กันของช่างภาพนกว่า การได้ภาพนกในสภาพแสงยามเช้านั้นสวยงามแค่ไหน พวกเราจึงรีบออกเดินทางมุ่งหน้าสู่จุดหมายในวันนั้นทันที

 

ณ จุดทิ้งขยะหลังร้านค้าแห่งหนึ่งบนดอยอ่างขาง ชายหนุ่มสามคนเดินไปเดินมา หาจุดที่เหมาะสมที่สุดของแต่ละคนสำหรับกางบังไพรเพื่อเฝ้าถ่ายภาพนก เป็นที่แปลกตาของผู้คนที่เดินเลือกซื้อของฝากของที่ระลึก บางคนหยุดยืนมองพวกเราอยู่นาน คงสงสัยอยู่ว่าเราลงไปทำอะไรกันในหลุมขยะ

 

 

หลุมทิ้งขยะ

 

 

เมื่อได้จุดที่เหมาะสมแล้วทุกคนก็เข้าไปอยู่ในบังไพรเฝ้ารอเวลาที่นกจะลงมาหากิน ช่วงระหว่างที่รอก็นั่งมองทัศนียภาพรอบตัวซึ่งเต็มไปด้วยขยะหลากหลายชนิด อดสงสัยไม่ได้ว่า ระบบการจัดการขยะของที่นี่เป็นอย่างไร แล้วหลังจากวันหยุดยาวปีใหม่ผ่านพ้นไปแล้ว ปริมาณขยะที่จะถูกนำมาทิ้งที่หลุมนี้จะมีปริมาณมากเพียงใด ขยะเหล่านี้จะถูกจัดการในรูปแบบไหน และที่ยิ่งน่าเศร้าคือ นกก็เปลี่ยนพฤติกรรมจากการหากินหนอน แมลง มาหากินในกองขยะแทน ไม่ต่างจากนกพิราบที่หากินในเมือง นั่งคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย หันไปอีกครั้งนกทั้งฝูงก็อยู่ตรงหน้าตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ เป็นครั้งแรกตั้งแต่ผมถ่ายภาพนกมาที่เห็นนกหายาก (สำหรับผม) ลงหากินพร้อมกันถึงสามชนิดในเวลาเดียวกัน นับเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก

 

 

สีน้ำเงินเข้มตัดกับสีส้มที่ใต้ท้องของนกกระเบื้องท้องแดง บวกกับสีเหลืองทองตัดกับแก้มสีเงินของนกกระรองทองแก้มขาวและใบหน้าสีแดงโดดเด่นของนกกระรางแก้มแดง ทำให้ภาพที่ปรากฏตรงหน้าเต็มไปด้วยสีสันและความมีชีวิตชีวา

 

 

กระเบื้องท้องแดงและกระรองทองแก้มขาว Chestnut-bellied Thrush and Silver-eared Mesia

 

 

นกกระเบื้องท้องแดงและนกกระรางแก้มแดง Chestnut-bellied Thrush and Scarlet-faced Liocichla

 

 

นกกระเบื้องท้องแดง (Chestnut-bellied Thrush) 

 

เป็นทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพในฤดูหนาว ตัวผู้ : คอและอกด้านบนน้ำเงินแกมเทา ลำตัวด้านบนและหางฟ้าเข้ม กระหม่อม หัวปีกและตะโพกสีสดกว่าส่วนอื่น อกและลำตัวด้านล่างน้ำตาลแดงเข้ม 

ตัวเมีย : ใหญ่กว่านกกระเบื้องคอขาว หัว ลำตัวด้านบน ปีก และหางน้ำตาลแกมเทา รอบตาขาว ขนคลุมหูดำ ข้างคอขาวแกมเหลืองรูปจันทร์เสี้ยว 

 

 

นกกระเบื้องท้องแดง ตัวผู้  Chestnut-bellied Thrush Male

 

 

นกกระเบื้องท้องแดง ตัวเมีย Chestnut-bellied Thrush Female

 

 

นกกระรองทองแก้มขาว (Silver-eared Mesia)

 

เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อย ที่อาศัยอยู่ตาม ป่าดิบ ชายป่า ในความสูงระดับ 1,300 -2,000 เมตร นกกะรองทองแก้มขาวมีเสียงร้องแหลมใส ตัวผู้โดยปกติสีจะเข้มกว่าตัวเมียตะโพกสีแดง ส่วนตัวเมียสีอ่อนกว่า ตะโพกสีเหลือง

 

 

นกกระรองทองแก้มขาว Silver-eared Mesia

 

 

นกกระรางแก้มแดง (Scarlet-faced Liocichla)

 

มีจุดเด่นที่ขนคลุมหน้า แก้มและคอสีแดงสด ขนคลุมลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเทา ขนคลุมลำตัวด้านล่างสีออกเขียว ขนปีกบินสีดำแกมแดงและเหลือง หางดำปลายหางสีน้ำตาลแกมเหลือง นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน นกกะรางแก้มแดงชอบหากินรวมกันเป็นฝูงเล็กๆ หรือรวมกับนกชนิดอื่นๆ แต่ตามปกติจะมีนิสัยขี้อาย ไม่ค่อยออกมาโชว์ตัวในที่โล่ง ชอบมุดอยู่ตามไม้พื้นล่างหรือต้นไม้ในระดับความสูงไม่มากนัก พบได้ตามป่าดิบเขาและทุ่งหญ้า ในประเทศไทยมีรายงานการพบนกบนภูเขาสูงเพียงบางแห่ง เช่น ดอยอ่างขาง และ ดอยลาง เป็นต้น

 

 

นกกระรางแก้มแดง Scarlet-faced Liocichla

 

 

นกลงหากินเยอะมาก มากจนเลือกไม่ถูกว่าจะถ่ายตัวไหนดี พวกเราก็ถ่ายภาพกันจนเพลิน ถ่ายกันจนนกอิ่มและบินจากไปเอง พวกเราเองก็อิ่ม อิ่มกับการได้อยู่กับธรรมชาติ แม้จะกังวลอยู่บ้างกับสภาพแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนไปจากคนที่หลั่งไหลเข้ามา

 

 

ผมอดกังวลไม่ได้ว่าสิ่งแวดล้อมของดอยอ่างขางจะเป็นอย่างไรต่อไป หากยังไม่มีการควบคุมเข้มงวดเรื่องขยะและการดื่มเครื่องดื่มมึนเมา รวมถึงการจุดพลุหรือปล่อยโคมในช่วงเทศกาล เพราะวันนี้ก็เริ่มเทศกาลสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมืองอีกแล้ว ซึ่งรู้ดีว่าผู้คนมากมายที่เบื่อการเล่นน้ำสงกรานต์จะมุ่งหน้าหนีน้ำไปที่นั่น ผมไม่รู้ว่าสภาพบนนั้นจะเป็นอย่างไร รวมถึงนกของผมด้วย...

 

.............................................................................................................................................

ขอขอบคุณข้อมูลประกอบจาก

www.bloggang.com/luckyfarm666

www.blogang.com/channoi

www.oknation.net

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: