จับตา: ข้อควรปฏิบัติในการขับรถหากต้องเดินทางกับเด็ก

ทีมข่าว TCIJ : 8 ต.ค. 2560 | อ่านแล้ว 6337 ครั้ง


ข้อควรปฏิบัติในการขับรถหากต้องเดินทางกับเด็กโดยไม่มีผู้คอยดูแล โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งนี้อุบัติเหตุทางถนนมักเป็นสาเหตุสำคัญที่คร่าชีวิตเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่มาภาพประกอบ: Emran Kassim (CC BY 2.0)

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะนำข้อควรปฏิบัติในการขับรถหากต้องเดินทางกับเด็กโดยไม่มีผู้คอยดูแล ซึ่งมักเป็นสาเหตุสำคัญที่คร่าชีวิตเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จึงจำเป็นที่รถต้องมีที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ซึ่งต้องเลือกให้เหมาะสมกับวัย น้ำหนัก และส่วนสูงของเด็ก ประกอบด้วย เปลเด็กอ่อน เหมาะสำหรับทารกแรกเกิด หรือเด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 2.5 กิโลกรัม ควรจัดให้ศีรษะของเด็กหันไปด้านกลางของรถ

ที่นั่งเด็กชนิดนั่งหันไปทางด้านหลังรถ เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักไม่เกิน 9 กิโลกรัม และมีส่วนสูงประมาณ 75 เซนติเมตร หรือเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ปี โดยจัดวางที่นั่งเด็กไว้บริเวณเบาะหลังรถ และให้เด็กนั่งหันหน้าไปด้านหลัง ซึ่งที่นั่งประเภทนี้จะช่วยรองรับคอ และกระจายแรงกระแทกเมื่อเกิดอุบัติเหตุชนจากด้านหน้า แต่ไม่ควรใช้กับรถที่ติดตั้งถุงลมนิรภัย

ที่นั่งเด็กที่หันหน้าไปทางหน้ารถ เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 9 – 18 กิโลกรัม ส่วนสูงตั้งแต่ 75 – 110 เซนติเมตร หรืออายุประมาณ 1 – 5 ขวบ โดยติดตั้งไว้บริเวณเบาะหลัง สามารถใช้ได้ทั้งหันไปด้านหน้าและด้านหลังรถ ที่นั่งเสริม เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 18 – 27 กิโลกรัม ความสูงประมาณ 110 – 135 เซนติเมตร อายุประมาณ 5 – 10 ขวบ จะช่วยให้เด็กคาดเข็มขัดนิรภัยได้พอดีกับลำตัวโดยที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ต้องใช้เข็มขัดนิรภัยยึดไว้บริเวณเบาะด้านหลังรถอย่างแน่นหนา รวมถึงคาดสายรัดที่นั่งนิรภัยให้กระชับตัวเด็ก

กรณีไม่มีที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ควรให้เด็กนั่งเบาะหลังรถค่อนไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อออกให้ห่างจากคอนโซลและกระจกรถให้มากที่สุด ห้ามนำเด็กนั่งบริเวณเบาะด้านหน้ารถ ไม่นำเด็กนั่งตักผู้ขับขี่และผู้โดยสาร เพราะหากประสบอุบัติเหตุ เด็กจะได้รับอันตรายจากการกระแทกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทั้งจากรถและตัวคนที่เด็กนั่งซ้อนตัก อีกทั้งเด็กอาจถูกถุงลมนิรภัยอัดใส่ใบหน้า ทำให้ขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้

กรณีเด็กโตที่สามารถคาดเข็มขัดนิรภัยรถได้ โดยเด็กต้องมีความสูงเพียงพอที่จะนั่งตัวตรงห้อยขากับเบาะรถ และหลังพิงพนักได้ถนัด โดยส่วนล่างของเข็มขัดนิรภัยต้องพาดผ่านกระดูกเชิงกราน และส่วนบนพาดผ่านหน้าอกในระดับพอดี จึงไม่แนะนำให้เด็กเล็กคาดเข็มขัดนิรภัย รวมทั้งไม่ควรใช้เข็มขัดนิรภัยเส้นเดียวกันคาดผู้ใหญ่กับเด็ก หรือเด็ก 2 คนไว้ด้วยกัน เพราะหากประสบอุบัติเหตุเข็มขัดนิรภัยจะไม่สามารถปกป้องอันตรายจากการถูกกระแทกและพุ่งออกนอกรถได้ ทั้งนี้ เข็มขัดนิรภัยถูกออกแบบมาสำหรับผู้ใหญ่ การให้เด็กใช้เข็มขัดนิรภัยจะทำให้ได้รับอันตรายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเข็มขัดนิรภัยอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม เมื่อประสบอุบัติเหตุแรงรัดของเข็มขัดนิรภัย จะทำให้เกิดแรงกระแทกหรือกระตุกอย่างรุนแรง ทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากกระดูกต้นคอหัก กระดูกสันหลังหรือท้องแตกได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: