มูลนิธิเมาไม่ขับ ระบุสงกรานต์ล่าสุดตายถึง 540 ราย ตัวเลขมากกว่าทางการที่ระบุไว้ 390 ราย หากนับตัวเลขคนตายที่มาแจ้งภายหลังด้วย เมาแล้วขับยังเป็นสาเหตุแรก ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
ข้อมูลจากมูลนิธิเมาไม่ขับระหว่างการรณรงค์ 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา (11-17 เม.ย. 2560) พบว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 540 ราย [1] ซึ่งตัวเลขของมูลนิธิเมาไม่ขับนี้เป็นตัวเลขรายวันที่รวมถึงคนตายที่ 'มาแจ้งภายหลัง' เข้าไปด้วย จึงมากกว่าของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ที่สื่อทุกสำนักรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตรวม 390 ราย ลดลงจากปีก่อน 52 ราย เกิดอุบัติเหตุรวม 3,690 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 243 ครั้ง และที่น่าสนใจคือ 'ผู้บาดเจ็บ' รวม 3,808 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 152 คน โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระบุว่า สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ 3 อันดับแรก คือ 1.เมาสุรา 43.06% 2.ขับรถเร็วเกินกำหนด 27.86% 3.ตัดหน้ากระชั้นชิด 14.82% ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ 1.รถจักรยานยนต์ 79.44% 2.รถปิกอัพ 6.83%
การเก็บสถิติควรมาจากตัวเลขหลายแบบหลายหน่วยงาน ไหม?
ตารางที่ 1 ที่มา: Cabinet Office, Government Of Japan การอ้างอิงตัวเลขของมูลนิธิเมาไม่ขับ ซึ่งมีความแตกต่างจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนนั้น ชวนให้นึกถึงประเทศญี่ปุ่นที่เก็บสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งภายใน 24 ชั่วโมง และภายใน 30 วัน ไว้ด้วย โดยในปี 2014 จำนวนผู้เสียชีวิต (ภายใน 24 ชั่วโมง) มี 4,113 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิต (ภายใน 30 วัน) มี 4,838 ราย แต่ยังมีปัญหาที่บางครั้งการเก็บตัวเลขสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของญี่ปุ่นของแต่ละหน่วยงานก็ไม่ตรงกันอีกด้วย เช่น ข้อมูลจากกระทรวงสุขภาพ, แรงงาน และสวัสดิการ (Ministry of Health, Labour and Welfare) ระบุว่าในปี 2013 มีผู้เสียชีวิต 5,914 ราย ซึ่งแตกต่างกับตัวเลขของสำนักงานสถิติ (Statistics Bureau) ของญี่ปุ่นระบุว่าเสียชีวิตแค่ 4,388 ราย [2] |
เทศกาลนับศพ ‘เมาแล้วขับ’ ยังเป็นสาเหตุตายอันดับแรก
สำหรับบ้านเรา สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุอันดับ 1 ของ 7 วันอันตราย 10 ครั้งล่าสุด (ทั้งปีใหม่และสงกรานต์ 2556-2560) ยังคงเป็นเมาสุรา และเมื่อเทียบสงกรานต์ปีที่ 2559 กับปี 2560 นี้ แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตในสื่อจะลดลงก็ตาม แต่สัดส่วนของอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (พิจารณาจากตารางที่ 2)
แม้ก่อนหน้านี้เมื่อ 28 มี.ค. 2560 ที่ประชุม ครม. จะมีมติปรับปรุงเกณฑ์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ให้ถือว่าผู้ขับขี่นั้นเมาสุรา จากเดิมที่มี ปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะถือว่าเมาสุรา โดยแก้เป็น ‘ให้ผู้ขับขี่ที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุรา’ นอกจากนี้ ผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ หรือผู้ขับขี่ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถแบบชั่วคราว ถ้ามี ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุราเช่นกัน ส่วนบุคคลอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนี้ยังคงใช้กฎข้อบังคับตามหลักเกณฑ์เดิม คือ ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะถือว่าเมาสุรา ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เสนอให้ แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี จากวันที่ 19 พ.ค. 2559 [3]
แต่ทั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้วพบว่าเยาวชนไทยเริ่มขี่มอเตอร์ไซค์และดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่อายุ 10 ปี ซึ่งกฎหมายจะครอบคลุมเพียงช่วงอายุ หลัง 10 ปีเท่านั้น ส่วนอายุเกิน 20 ปียังเหมือนเดิม และก่อนหน้านั้นหลังจากช่วงเทศกาลปีใหม่เมื่อวัน 5 ม.ค. 2560 ก็ได้มีการเพิ่มบทลงโทษกรณีเมาแล้วขับ จากเดิมจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท เป็น จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับขั้นต่ำเพิ่มเป็น 10,000 บาท แต่ไม่ เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ มีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาต และเพิ่มมาตรการยึดรถในชั้นศาล ไม่เกิน 7 วัน [4]
ผลที่เกิดขึ้น เพจชมรมกล้องหน้ารถ - Car Camera Club (ซึ่งเป็นการรณรงค์ของมูลนิธิเมาไม่ขับ) ได้เปรียบเทียบตัวเลขผู้เสียชีวิต '365 วัน อันตราย' : คนตายบนท้องถนนในจุดเกิดเหตุ โดยระบุว่าเดือน ม.ค. 2560 ตาย 947 ราย, ม.ค.2559 ตาย 1,012 ราย เฉลี่ย 77 จังหวัด 'ลดลง' จากปีที่แล้ววันละ 2.1 ราย เดือน ก.พ.2560 ตาย 850 ราย, ก.พ.2559 ตาย 890 ราย เฉลี่ย 77 จังหวัด 'ลดลง' จากปีที่แล้ววันละ 1.4 ราย และ เดือน มี.ค. 2560 ตาย 1,281 ราย, มี.ค.2559 ตาย 900 ราย เฉลี่ย 77 จังหวัด 'เพิ่มขึ้น' จากปีที่แล้ววันละ 12.3 ราย [5]
‘เราจะไม่ทนอีกต่อไป’ ตัวเร่งวินัยและกฎหมายที่เข้มงวดของญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเคยประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัวของอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของประเทศตั้งแต่ช่วงปลาย ทศวรรษที่ 1950 จนถึงปี 1970 การแก้ปัญหาและการสร้างวินัยของคนในชาติเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนของญี่ปุ่นกินเวลาร่วม 60 กว่าปีเลยทีเดียว ที่มาภาพประกอบ: Daidō Moriyama
ญี่ปุ่นเองก็เคยเป็นประเทศที่มีปัญหาผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงลิบมาก่อนเมื่อในอดีต และมีความพยายามแก้ปัญหารวมถึงการ สร้างวินัยคนในชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้มาตลอดยาวนานกว่า 60 ปีอย่างต่อเนื่อง (อ่านเพิ่มเติม: จับตา: เกร็ดประวัติศาสตร์ความตายทางถนนและการสร้างความปลอดภัยของญี่ปุ่น) เป็นผลให้หลายปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ รวมถึงอุบัติเหตุอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมาแล้วขับก็ยังน้อยด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าระบบขนส่งสาธารณะและโครงสร้างถนนที่ดีก็มีส่วน แต่ปัจจุบันกฎหมายเมาแล้วขับของญี่ปุ่นเข้มงวดมากด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าญี่ปุ่นนั้น 'ก้าวหน้า'ทั้งในเรื่องโครงสร้างภาคขนส่งและสาธารณูปโภค และก็ไม่ลืมสางปัญหาที่ค้างคาอยู่ อย่างเรื่องกฎหมายที่เข้มงวดเพื่อควบคุมคนใช้ถนน แม้กฎหมายญี่ปุ่นที่ปัจจุบันอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ทั้ง 365 วัน 24 ชั่วโมง แต่ผู้ที่จะดื่มได้ต้องอายุ 20 ปีขึ้นไป และถ้าจะขับขี่ยานพาหนะจะต้องมีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญไม่มีการเลือกปฏิบัติเรื่องอายุหรือประเภทใบขับขี่ (all drivers, young drivers หรือ professional drivers ก็ต้องไม่เกิน 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ อย่างเสมอภาคกัน) [6]
การแก้กฎหมายเมาแล้วขับ 2 ครั้งหลังสุดในญี่ปุ่นที่ทวีความเข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ นั้นเกิดจาก ‘คนที่ไม่ได้เมาเสียชีวิตเพราะถูกคนเมาขับรถชน’ เกิดปรากฏการณ์ ‘เราจะไม่ทนอีกต่อไป!’ ในญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มเรื่องราวภาคแรกในเดือน พ.ย. ปี 1999 ที่โตเกียว เกิดเหตุรถบรรทุกที่คนขับเมาอย่างหนักได้ชนรถยนต์อย่างรุนแรงเป็นเหตุให้เด็ก 2 คน เสียชีวิตอย่างทารุณ ต่อมาในเดือน เม.ย. ปี 2000 ที่คานางาวะ นักศึกษาวิทยาลัย 2 คน เสียชีวิตจากการถูกรถชนโดยคนขับเมาแถมไม่มีใบขับขี่ ทั้งสองเหตุการณ์นี้ได้กระตุ้นให้คนญี่ปุ่นลุกขึ้นเรียกร้องครั้งใหญ่ ปี 2001 คำร้องที่ลงชื่อโดยประชาชน 370,000 คน ถูกส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และต่อมาญี่ปุ่นจึงได้แก้ไขกฎหมายจราจรทางบกที่เพิ่มบทลงโทษสำหรับการเมาแล้วขับ ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายอาญาเพิ่มโทษสูงสุด สำหรับการขับขี่อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจากโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี เป็น 15 ปี ในเดือน มิ.ย. 2002 เริ่มบังคับใช้กฎหมายจราจรทางบกฉบับใหม่ [7] ที่มีข้อบังคับต่าง ๆ ได้แก่ การลดเกณฑ์ปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจของผู้ขับขี่จากไม่เกิน 0.25 เหลือเพียง 0.15 มิลลิกรัม/ลิตร (คือไม่เกิน 0.03% ของแอลกอฮอล์ในเลือด) และเพิ่มบทลงโทษ คือ ค่าปรับเพิ่มขึ้นจากไม่เกิน 5 หมื่นเยน เป็น 5 แสนเยน (425 เป็น 4,250 ดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราแลกเปลี่ยนช่วง มิ.ย. 2002) ซึ่งสูงกว่าเงินเดือนเฉลี่ยในขณะนั้นของผู้ที่จบมหาวิทยาลัย ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายใหม่ไม่ได้ ครอบคลุมเพียงผู้เมาแล้วขับ แต่ยังรวมถึงผู้ที่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ขับขี่ และผู้ที่นั่งรถไปกับผู้ขับขี่ที่เมาอีกด้วย [8]
แม้การแก้ไขกฎหมายครั้งนั้น ยังไม่ได้ระบุบทลงโทษแก่ผู้ที่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ขับขี่ [9] แต่ญี่ปุ่นได้เผยแพร่กฎหมายใหม่นี้ในหลาย ช่องทาง รวมถึงในสื่อกระแสหลักและการทำงานของตำรวจเข้มข้นมากขึ้น ผลก็คือสัดส่วนของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทางถนน เมื่อแยกเอาเฉพาะที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ ก่อน-หลัง กฎหมายฉบับใหม่ เปรียบเทียบระหว่าง มิ.ย.-ธ.ค. 2001: (ก่อน) กับ ช่วงเดียวกันปี 2002: (หลัง) พบว่าผู้บาดเจ็บจากเมาแล้วขับลดลง 27%, ผู้เสียชีวิตจากเมาแล้วขับลดลง 26.7% [10]
ส่วนการแก้กฎหมายครั้งล่าสุด (ภาคสอง) ที่นำมาสู่กฎหมายเมาแล้วขับฉบับปัจจุบันของญี่ปุ่น เกิดจากเรื่องเศร้าสลดที่นำมาซึ่งกฎหมาย ‘สุดเคี่ยว' และเช่นเดียวกันกับการแก้กฎหมายครั้งก่อนหน้านี้ คือ ผู้เสียชีวิตไม่ได้เมา อุบัติเหตุนี้เกิดเมื่อ 25 ส.ค. ปี 2006 รถยนต์ที่ขับมาโดยเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองฟุกุโอกะที่มีอาการมึนเมา ชนรถยนต์ของครอบครัวที่มาด้วยกัน 5 คน เป็นสามีภรรยาและลูก 3 คน ที่สะพานในจังหวัดฟุกุโอกะ เป็นเหตุให้รถยนต์ของครอบครัวนี้ พลิกตกลงไปในทะเล ผู้เสียชีวิตเป็นเด็กทั้ง 3 ราย [11]
กรณีนี้ได้ทำให้เกิดการถกเถียงสาธารณะ (public debate) ที่ถูกกระตุ้นโดยสื่อมวลชน [12] ไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังเหตุการณ์เศร้าสลด รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มวางแผนโดยในที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ตกลงที่จะโปรโมทแคมเปญต่อต้านการเมาแล้วขับทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายที่ธุรกิจขนส่งรวมถึงธุรกิจผู้ให้บริการอาหารและเครื่องดื่มด้วย [11] จากโพลล์ชิ้นหนึ่งเมื่อ 2006 ของทางการญี่ปุ่น พบว่าประชาชน 73% เรียกร้องให้มีการลงโทษที่รุนแรงยิ่งขึ้นสำหรับการเมาแล้วขับ และ 44% เห็นด้วยกับการลงโทษที่คล้ายคลึงกันสำหรับผู้ที่นั่งไปกับยานพาหนะที่ขับขี่โดยผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ [13] [14]
ปรับจนอาน ลงโทษผู้ที่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่คนขับ
เดือน ม.ค.2007 The Japan Times รายงานว่าข้อเสนอของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นในการเพิ่มบทลงโทษสำหรับการเมาแล้วขับ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของประชาชนในช่วงนั้น ที่ต้องการให้ลงโทษผู้เมาแล้วขับให้รุนแรงขึ้น ข้อเสนอนี้จะใช้บทลงโทษเดียวกันลงโทษผู้ที่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ขับขี่ได้ดื่มด้วย เช่น ผับ/บาร์ ร้านอาหาร แม้ปี 2006 จะมีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเมาแล้วขับ 611 ราย ลดลงจากปี 2005 ถึง 13.6% แต่ก็ไม่สามารถหยุดความต้องการของประชาชนที่อยากให้เพิ่มความรุนแรงของกฎหมาย โดยกฎหมายก่อนหน้านี้ห้ามการให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ขับขี่อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ระบุบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ภายใต้ข้อเสนอของสำนักงานตำรวจ ผู้ที่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ขับขี่ได้ดื่ม อาจต้องถูกคุมขังเป็นเวลาถึง 5 ปี หรือถูกปรับสูงสุด 1 ล้านเยน [15] หรือ 8,800$ (เยน ต่อ ดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงเดือน ก.ย.2007) [16] ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี (GDP per Capita) ของคนญี่ปุ่นในปี 2007 อยู่ที่ 43,882.8$ [17] นั่นเท่ากับ ประมาณ 1 ใน 5 ของรายได้ทั้งปี หรือ รายได้ 2.4 เดือน
คนญี่ปุ่น เจ็บแล้วจำ ! ชาวเมืองฟุกุโอกะอุทิศส่วนกุศลเนื่องในวันครบรอบ 10 ปี ให้กับ 3 พี่น้อง ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับครั้งที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ที่ ทำให้มีการแก้กฎหมายเมาแล้วขับให้รุนแรงยิ่นขึ้นในเวลาต่อมา ที่มาภาพ: mainichi.jp 25 ส.ค. 2016 ที่จังหวัดฟุกุโอกะ ผู้คนในเขตฮิงาชิ ได้อุทิศส่วนกุศลเนื่องในวันครบรอบ 10 ปี ให้กับ 3 พี่น้อง ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมา แล้วขับ โดยเหตุการณ์นี้เกิดจากรถของเจ้าหน้าที่เทศบาลจังหวัดฟุกุโอกะ วัย 22 ปี ที่เมาแล้วขับพุ่งชนเข้าด้านหลังรถยนต์ของครอบครัวที่ขับรถมาด้วยกัน 5 คน เป็นสามีภรรยาและลูก ๆ ทั้ง 3 คน บนสะพานแห่งหนึ่งในจังหวัดฟุกุโอกะ เป็นเหตุให้รถยนต์ของครอบครัวนี้ชน แนวป้องกันที่มีความสูง 1 เมตรพลิกตกลงไปในอ่าว แม้ว่าพ่อแม่คู่นี้ได้ช่วยลูกชายวัย 3 ขวบ และลูกสาววัย 1 ขวบ ได้จากรถที่จมลงไปแล้ว แต่เด็กทั้งสองก็เสียชีวิตในภายหลัง ขณะที่ลูกชายวัย 4 ขวบ จมน้ำเสียชีวิตเพราะติดอยู่ในรถยนต์ เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2006 และเด็กที่เสียชีวิตมีอายุ 4, 3 และ 1 ปี ตามลำดับ ในวันครบรอบ 10 ปีของอุบัติเหตุ เพื่อนบ้านและเด็ก ๆ ได้อธิษฐานให้เด็ก 3 คน ที่หลุมฝังศพของพวกเขา ที่วัดมิโยโตกุเซน-จิ ในบริเวณที่มีรูปปั้นจิโซ 3 ตนยืนอยู่เพื่อรำลึกถึงเด็ก ๆ ศาลเจ้านี้ถูกสร้างขึ้นในปี 2007 หลังจากโศกนาฎกรรมและถูกตั้งชื่อว่า “Jizo of sky, wind and light” (Jizo คือพระพุทธรูปสไตล์ญี่ปุ่น) นักเรียน 66 คนจากโรงเรียนอนุบาลมาอิดาชิของจังหวัดฟุกุโอกะ มาแสดงความรำลึกที่วัด อาการิ โตโยต้า อายุ 6 ปี กล่าวว่า "ฉันภาวนาว่าผู้ใหญ่จะไม่ดื่มแล้วขับรถอีกต่อไป" ขณะเดียวกัน ที่สถานีตำรวจ เจอาร์ ฮากาตะ และสถานีอื่น ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดฟุกุโอกะและเจ้าหน้าที่ของเมือง ได้แจกใบปลิวให้ผู้ขับขี่ เพื่อเรียกร้องให้ตระหนักถึงอันตรายของการเมาแล้วขับ ด้านนายกเทศมนตรีจังหวัดฟุกุโอกะ โซอิจิโร่ ทากาชิม่า กล่าวในงานแถลงข่าว "นี่คือวันที่พวกเรา ณ ที่ศาลาว่าการจะต้องไม่มีวันลืม เราจะไม่ปล่อยให้ความทรงจำนี้หายไป และไม่มีวันปล่อยให้อุบัติเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นอีกเป็นอันขาด" [18] [19] |
ตารางที่ 3 ที่มา: Cabinet Office, Government Of Japan
เมื่อพิจารณาจากสถิติดังตารางที่ 3 พบว่าหลังจากมีการตื่นตัวเรื่องโศกนาฎกรรมเมาแล้วขับในสังคมญี่ปุ่นที่เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในช่วงปี 2006-2007 อัตราการตายจากอุบัติเหตุที่ก่อขึ้นโดยผู้เมาแล้วขับในญี่ปุ่นก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
และจากที่ได้กล่าวไปว่าโศกนาฏกรรมที่ฟุกุโอกะเมื่อปี 2006 ได้นำมาซึ่งกฎหมายเมาแล้วขับฉบับปัจจุบันของญี่ปุ่น คือฉบับที่ออกมาในเดือน ก.ย. 2007 ซึ่งมีรายละเอียดคร่าว ๆ ดังนี้ [20] [21]
เมาแล้วขับ (Driving While Intoxicated: DWI) ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (Blood Alcohol Content/Concentration: BAC) 0.08 ขึ้นไป จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน (8,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ) (เยน ต่อ ดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงเดือน ก.ย.2007) ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี (GDP per Capita) ของคนญี่ปุ่นในปี 2007 อยู่ที่ 43,882.8$ [22] นั่นเท่ากับ ประมาณ 1 ใน 5 ของรายได้ทั้งปี หรือ รายได้ 2.4 เดือน ส่วนกฎหมายเดิม จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (4,400$)
ขับขี่ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ (Driving Under the Influence: DUI) คือ ระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ 0.15 มิลลิกรัม/ลิตร หรือ ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดระหว่าง 0.03 ถึง 0.07999 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (4,400$) ส่วนกฎหมายเดิม จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 3 แสนเยน (2,650$)
บทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ได้ขับขี่ แต่ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย (1)ให้คนที่ต้องขับขี่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือนั่งรถในฐานะ 'ผู้โดยสาร' ไปกับผู้ขับขี่ที่ดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าผู้ขับขี่ถูกตรวจพบว่า DUI: ผู้ที่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ขับขี่ หรือ 'ผู้โดยสาร' อาจถูกจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ถูกปรับไม่เกิน 3 แสนเยน (2,650$) DWI: ผู้ที่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ขับขี่ หรือ 'ผู้โดยสาร' อาจถูกจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ถูกปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (4,400$) และ (2) เอารถให้คนที่ดื่มแอลกอฮอล์มาแล้วไปขับ โทษก็เหมือนดื่มเอง คือ หากผู้ขับขี่ถูกตรวจพบว่า DUI: ผู้ที่เอารถให้คนที่ดื่มฯมาแล้วไปขับ อาจถูกจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ถูกปรับไม่เกิน 5 แสนเยน (4,400$) DWI: ผู้ที่เอารถให้คนที่ดื่มมาแล้วไปขับ อาจถูกจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ถูกปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน! (8,800$)
ปฏิเสธการเป่าแอลกอฮอล์ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 3 แสนเยน (4,400$)
ชนแล้วหนี จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน (8,800$)
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
จับตา: ประวัติศาสตร์ความตายทางถนนและการสร้างความปลอดภัยของญี่ปุ่น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ