ดีเดย์บังคับใช้กฎหมายจราจรตาม ม.44 วันที่ 5 เม.ย.นี้

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 มี.ค. 2560 | อ่านแล้ว 2934 ครั้ง

ดีเดย์บังคับใช้กฎหมายจราจรตาม ม.44 วันที่ 5 เม.ย.นี้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงรายละเอียด ม.44 มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายจราจรทางบก และมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ ดีเดย์บังคับใช้ 5 เม.ย.นี้ ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2560 ว่าพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมแถลงข่าวพร้อมผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมี พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.สมชาย เกาสำราญ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ต.อ.ทินกร ณัฏฐมั่งคั่ง รองผู้บังคับการตำรวจจราจร และนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เกี่ยวกับรายละเอียดใน ม.44 ฉบับที่14/2560 เรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ว่ามีวัตถุประสงค์ เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เน้นเคารพกฎจราจร ให้มีวินัยขับขี่ ไม่ต้องการให้มีการฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่อยากให้ได้รับใบสั่งจราจร ร่วมสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืนด้วยกัน โดยกรมการขนส่งทางบกร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพิ่มมาตรการในกระบวนการชำระค่าปรับในการกระทำผิดกฎหมายจราจร

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกยังคงอำนวยความสะดวกการชำระภาษีรถประจำปีทุกกรณีเช่นเดิม กรณีผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถที่ไม่ได้กระทำผิดและไม่มีใบสั่งตามกฎหมายจราจรยังคงสามารถชำระภาษีรถประจำปีพร้อมรับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ป้ายวงกลม) ได้ที่สำนักงานขนส่งทุกแห่งทั่วประเทศและทุกช่องทางตามปกติเช่นเดิม สำหรับผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถคันใดมีใบสั่งแต่ชำระค่าปรับเรียบร้อยแล้วก็สามารถชำระภาษีรถประจำปีพร้อมรับป้ายวงกลมได้ทุกช่องทางตามปกติเช่นกัน กรณีมีใบสั่งแต่ยังไม่ได้ชำระค่าปรับและประสงค์จะชำระค่าปรับพร้อมชำระภาษีรถประจำปีในคราวเดียวกันสามารถชำระค่าปรับพร้อมชำระภาษีรถประจำปีได้ในคราวเดียวกัน โดยกรมการขนส่งทางบกจะออกป้ายวงกลมให้ทันทีทุกช่องทางเช่นเดิม

หากผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถคันที่มีใบสั่งตามกฎหมายจราจร แต่ยังไม่พร้อมชำระค่าปรับคราวเดียวกัน กรมการขนส่งทางบกยังคงอำนวยความสะดวกให้สามารถชำระภาษีรถประจำปีได้ตามปกติทุกช่องทางเช่นเดิม โดยจะได้รับหลักฐานแสดงการเสียภาษีประจำปีชั่วคราว ซึ่งมีอายุ 30 วันนับแต่วันที่นายทะเบียนออกให้ หากชำระค่าปรับเรียบร้อยแล้วสามารถนำหลักฐานใบเสร็จการชำระค่าปรับมาแสดง เพื่อรับป้ายวงกลมทันที อย่างไรก็ตาม กรณีที่ชำระภาษีประจำปีแล้ว แต่ไม่ชำระค่าปรับที่ค้างชำระให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาตามที่กำหนด พนักงานเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้กรมการขนส่งทางบกงดออกป้ายวงกลม สำหรับรถคันนั้น และจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกให้ความร่วมมือกับ สตช.จัดตั้งคณะทำงานร่วมพร้อมประชุมหารือกันอย่างใกล้ชิด โดยเร่งพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แบบออนไลน์ เพื่อให้กระบวนการตามมาตรการดังกล่าวสามารถอำนวยความสะดวกพร้อมให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังจัดเตรียมความพร้อมในการเชื่อมโยงระบบข้อมูลด้านทะเบียนและภาษีรถเข้ากับระบบชำระค่าปรับจราจรของ สตช.เป็นระบบออนไลน์ทุกแห่งทั่วประเทศและในทางคู่ขนานกัน กรมการขนส่งทางบกจะเร่งรัดปรับปรุงกระบวนการให้บริการชำระภาษีรถประจำปี โดยจะพิจารณาให้สำนักงานขนส่งทุกแห่งทั่วประเทศมีช่องบริการเฉพาะเพื่ออำนวยความสะดวกบริการประชาชนที่ประสงค์จะชำระค่าปรับจราจรด้วย ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการให้บริการในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อให้ประชาชน ได้รับความสะดวกและมีทางเลือกใช้บริการรับชำระภาษีรถประจำปีผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ สำนักงานขนส่งทุกแห่งทั่วประเทศ“เลื่อนล้อ ต่อภาษี” (Drive Thru for Tax) ชำระภาษีโดยไม่ต้องลงจากรถ หน่วยบริการรับชำระภาษีที่ห้างสรรพสินค้า ในวันเสาร์-อาทิตย์ ตามโครงการ “ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี” (Shop Thru for Tax) ศูนย์บริการร่วมคมนาคมเชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-15.00 น. ศูนย์บริการร่วม G-point รวมถึงบริการรับชำระภาษีรถประจำปีผ่านระบบอินเตอร์เน็ตที่เว็บไซต์ www.dlte-serv.in.th ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ไปรษณีย์ และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเจ้าของรถสามารถชำระภาษีรถประจำปีล่วงหน้าได้ไม่เกิน 90 วัน

ส่วนประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่องการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยและตำแหน่งที่นั่ง เพื่อกำหนดคุณสมบัติและการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ.2555 กำหนดให้รถยนต์ส่วนบุคคล รถแท็กซี่ และรถที่ใช้รับส่งจากสนามบิน (รถลีมูซีน) ที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531-วันที่ 31 ธันวาคม 2553 จะต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยสำหรับที่นั่งของคนขับและที่นั่งตอนหน้ารถ ส่วนรถที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป กำหนดให้ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง และสำหรับรถตู้ส่วนบุคคล รถปิคอัพ และรถสองแถว ที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2537 กำหนดให้ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งของผู้ขับรถและที่นั่งตอนหน้า ทั้งนี้ รถตู้ส่วนบุคคลที่ผลิตหรือนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นไป ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง สำหรับรถสี่ล้อเล็กรับจ้างที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 กำหนดให้ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยเฉพาะที่นั่งด้านหน้าของคนขับและผู้โดยสาร ทั้งนี้ รูปแบบของเข็มขัดนิรภัยที่ต้องติดตั้งแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบรัดหน้าตักและรั้งพาดไหล่ใช้สำหรับตำแหน่งที่นั่งผู้ขับรถ ที่นั่งตอนเดียวกับผู้ขับรถและที่นั่งตอนหลังผู้ขับรถริมสุด ส่วนที่นั่งระหว่างกลางเป็นเข็มขัดนิรภัยแบบรัดหน้าตัก (แบบคาดเอว)

สำหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกที่ต้องจัดให้มีเข็มขัดนิรภัย พ.ศ.2555 กำหนดให้รถบรรทุกทุกประเภทที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 จะต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยสำหรับที่นั่งของคนขับและที่นั่งตอนหน้ารถ ส่วนรถตู้โดยสารที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ทุกคันและทุกเส้นทาง สำหรับรถโดยสารที่วิ่งระหว่างกรุงเทพมหานครไปต่างจังหวัด (หมวด 2) และที่วิ่งระหว่างจังหวัด (หมวด 3) ที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2557 กำหนดให้ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งทุกคัน หากเป็นรถขนาดเล็กที่วิ่งภายในจังหวัด และจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2537เป็นต้นไป ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยส่วนที่นั่งด้านหน้าของคนขับและที่นั่งตอนหน้าคู่คนขับ โดยกำหนดให้ที่นั่งของผู้ขับรถและที่นั่งตอนเดียวกับผู้ขับรถ ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบรัดหน้าตักและรั้งพาดไหล่ ส่วนที่นั่งตรงกลางและที่นั่งตอนหลังผู้ขับรถทุกที่นั่งต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบรัดหน้าตัก (แบบคาดเอว)

ส่วนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 15/2560 เรื่องมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมกำกับดูแลรถโดยสารสาธารณะให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารทุกประเภทให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะระยะเร่งด่วนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจในการเดินทางของประชาชนนั้น กรมการขนส่งทางบกพร้อมดำเนินการทันทีและให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันทุกสำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ โดยเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมกำกับดูแลรถโดยสารสาธารณะและบังคับใช้มาตรการลงโทษตามกฎหมาย หากผู้ประกอบการไม่ควบคุมดูแลพนักงานขับรถให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความปลอดภัยจนเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุร้ายแรง ฝ่าฝืนกระทำผิดเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการ บรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่ง ทิ้งผู้โดยสาร เก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กำหนด หรือปล่อยให้มีการนำรถไปใช้กระทำผิดตามกฎหมายอื่น เช่น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ กรมการขนส่งทางบกสามารถสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนรถ ระงับใช้รถ หรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ทันทีโดยมีระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน รวมถึงผู้ประกอบการต้องจัดทำสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ ตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถและผู้ขับรถพร้อมทำบันทึกการตรวจสอบดังกล่าว และใบกำกับสินค้ากรณีเป็นผู้ประกอบการขนส่งโดยรถบรรทุก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรถสาธารณะยังต้องจัดให้มีประกันภัยเพิ่มจากประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้โดยสารและบุคคลภายนอก โดยต้องแสดงหลักฐานการจัดทำประกันภัยทั้งภาคบังคับและที่จัดทำเพิ่มก่อนดำเนินการ ชำระภาษีรถประจำปีและการยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ทั้งนี้ หากไม่มีการจัดทำประกันภัยตามที่กำหนดหรือแสดงหลักฐานไม่ครบถ้วน จะไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนรถ ต่อภาษีประจำปี หรือต่ออายุใบอนุญาตประกอบการได้

นอกจากนี้ ในคำสั่ง คสช.ฉบับดังกล่าวยังสนับสนุนการบริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างครบวงจร โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการระบบ GPS ต้องมีส่วนร่วมในการดูแลระบบ ให้สามารถรายงานสถานะของรถแต่ละคันมายังศูนย์ฯ GPS ของกรมการขนส่งทางบกแบบเรียลไทม์ทันที หากระบบ GPS ของผู้ให้บริการมีปัญหาขัดข้อง ต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน หากละเลยฝ่าฝืนมีความผิดปรับวันละไม่เกิน 5,000 บาท จนกว่าจะแก้ไขได้แล้วเสร็จ อีกทั้งกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยของตัวรถโดยสารสาธารณะเพิ่มเพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งดำเนินการโดยเคร่งครัด อาทิ การติดถังบรรจุก๊าซซึ่งต้องไม่เกินสมรรถนะของตัวรถ การกำหนดจำนวนที่นั่งผู้โดยสารของรถตู้โดยสารไม่เกิน 13 ที่นั่ง การแก้ไขปรับปรุงตัวรถ รวมถึงการแก้ไขกลไกให้ผู้โดยสารสามารถเปิดประตูหลังจากด้านในได้เมื่อรถเกิดอุบัติเหตุขึ้น ซึ่งกรมการขนส่งทางบกจะกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการรถตู้โดยสารโดยเร็วเพื่อให้เป็นตามคำสั่งของ คสช. และเพื่อยกระดับความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ และสร้างความปลอดภัย ทางถนนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่าทุกมาตรการจะมีการปรับใช้กฎหมายอย่างจริงจังตั้งแต่วันที่ 5 เมษายนนี่้ เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเข็มขัดนิรภัยกำลังได้รับความสนใจขณะนี้ วันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินคดีตามกฎหมายที่มีความแตกต่างกัน ประกอบด้วยกรณีเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล เจ้าพนักงานตำรวจเป็นคนจับกุมจะมีโทษปรับตาม พ.ร.บ.จราจรฯ 500 บาท แต่กรณีเป็นรถโดยสารประเภทแท็กซี่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจะใช้ฐานความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรฯ เช่นเดียวกันมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 500 บาท แต่หากจับกุมโดยผู้ตรวจการขนส่งทางบกกรณีแท็กซี่ผู้ตรวจการจะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.รถยนต์ ปรับผู้ขับแท็กซี่ไม่เกิน 1,000 บาท กรณีเป็นรถโดยสารสาธารณะทั้งรถตู้และรถโดยสารขนาดใหญ่ ซึ่งการจับกุมครอบคลุมในหน้าที่ผู้ตรวจการกรมการขนส่งทางบกจะจับกุมตามกฎหมายขนส่ง ในส่วนนี้ผู้ขับรถจะโดนโทษปรับ 5,000 บาท และผู้โดยสารที่ผู้ขับรถตักเตือนให้คาดเข็มขัดแล้วแต่ไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษปรับ 5,000 บาทเช่นเดียวกัน ส่วนผู้ประกอบการเจ้าของรถกรณีปล่อยปละละเลยไม่ให้พนักงานคนขับ ผู้โดยสาร ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยจะมีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: