‘อุบัติเหตุทางถนน’ และ ‘แอลกอฮอล์’ ชวนตั้งข้อสังเกต ‘สหรัฐฯ-นอร์เวย์’

ฐานันดร ชมภูศรี แอดมินเพจ Make Life Safe Again 28 มี.ค. 2560 | อ่านแล้ว 7281 ครั้ง


ใกล้ช่วงสงกรานต์เรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนก็ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นอีกสังคมครั้ง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เมาแล้วขับคือสาเหตุการสูญเสียที่สำคัญ (ทั้งในต่างประเทศและไทย) บทความจาก แอดมินเพจ Make Life Safe Again ชวนตั้งข้อสังเกตเล็ก ๆ น้อย ๆ กรณีอุบัติเหตุทางถนนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน สหรัฐฯ-นอร์เวย์

เมื่อวันที่ 6 มี.. 2560 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ได้รายงานภาวะสังคมไทย 'ไตรมาสสี่' และภาพรวมปี 2559 ในส่วนของอุบัติเหตุทางถนนนั้นพบว่าอุบัติเหตุจราจรทางบกและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปี 2558 (โปรดพิจารณาภาพด้านล่าง)

ไตรมาสสี่ปี 2559 อุบัติเหตุจราจรทางบกและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปี 2558 21.6% และ 29.3% แต่มูลค่าความเสียหายลดลง 72.7% ทั้งปี 2559 เกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20.7% และ 31.5% โดยรถที่เกิดอุบัติเหตสูงสุดยังคงเป็นรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 11.9% รองมาเป็นรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้น 8.5% รถโดยสารสาธารณะลดลง 11.6% รถตู้โดยสารสาธารณะเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 11.2% ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 พบการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ เพิ่มขึ้น 16% 25.8% และ 17.8% จากช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ที่มาภาพ: thaipublica.org

สำหรับมาตรการเพื่อความปลอดภัยทางถนน [1] อย่างหนึ่งของไทยคือ ได้ใช้กล้องจับความเร็วมายาวนานแล้วกว่า 30 ปี และใช้ระบบ 'ใบสั่งอัตโนมัติ' มาแล้ว 12 ปี แต่การไม่จ่ายค่าปรับจากกล้องจับความเร็วก็สามารถต่อทะเบียนได้ โดยมีการให้เหตุผลด้านงบประมาณทำให้ฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถเชื่อมโยงกัน และเมื่อ 1 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา ตำรวจจราจรได้เริ่มใช้มาตรการเข้มงวด [2] ในกรุงเทพฯ คือ ผู้ที่ได้รับใบสั่งจะต้องชำระภายใน 7 วัน หากไม่ชำระจะมีใบเตือน แต่ถ้าหากยังไม่ชำระภายใน 30 วัน จะนำไปสู่การติด 'แบล็คลิสต์' ในการต่อทะเบียน ต่อประกันรถ การทำธุรกรรมกับรถในอนาคต ซึ่งใช้ 'กล้อง' ส่งใบสั่งถึงบ้านผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรใน ซึ่งได้เริ่มใช้มาตรการเข้มงวดนี้ในพื้นที่นครบาล ใช้กล้องจับความเร็ว 14 ตัว ส่วนพื้นที่สถานีตำรวจอื่น ๆ เป็นกล้องภาพนิ่ง เป็นพื้นที่ที่พบการร้องเรียนและปัญหา ประกอบกับ 28 สี่แยก [3] ที่เริ่มทดลองกล้องจับฝ่าไฟแดง และจากการเพิ่มมาตรการสองอย่างข้างต้น เมื่อเปรียบเทียบกับ 28 วันก่อน-หลัง พบว่าผู้เสียชีวิตในกรุงเทพฯลดลงเล็กน้อย ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุระบุว่าวันที่ 1-28 ก.พ. 2560 เสียชีวิต 51 คน และวันที่ 4-31 ม.ค. 2560 เสียชีวิต 57 คน

เปรียบเทียบสาเหตุการเสียชีวิต 2 อันดับแรกในช่วงสงกรานต์ 2556-2559 และปีใหม่ 2560

อีกเดือนเดียว (เดือน เม..) ก็จะถึงช่วง 7 วันอันตราย(สงกรานต์)อีกครั้ง ผู้เขียนได้ลองรวบรวมข้อมูลเปรียบเทียบสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุด 2 อันดับแรก คือการเมาสุราและการขับรถเร็วเกินกำหนด ทั้งนี้ประเด็นเรื่อง เมาแล้วขับนั้นก็ได้รับการพิสูจน์ในหลาย ๆ ประเทศแล้ว (ไม่ใช่เฉพาะแค่ประเทศไทย) ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และหลาย ๆ ประเทศรวมทั้งไทยเอง วันนี้ผู้เขียนเลยหยิบยกแง่มุมข้อสังเกตบางส่วนในเรื่อง 'อุบัติเหตุทางถนน' และ 'เครื่องดื่มแอลกอฮอล์' ของประเทศ สหรัฐอเมริกาและ นอร์เวย์มาชวนอภิปรายกัน

ข้อสังเกตเล็ก ๆ น้อยๆ ว่าด้วยการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สหรัฐฯ-นอร์เวย์

เปรียบเทียบสัดส่วน (%) การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ‘สหรัฐฯ-นอร์เวย์’ ที่มาข้อมูล: รายงานความปลอดภัยทางถนนขององค์การอนามัยโลก (WHO Global Status on Road Safety Report) 2009, 2013, 2015

จากสถิติพบภาพรวมนอร์เวย์ตายน้อยลง แต่สหรัฐฯ ตายเพิ่มขึ้น

โดยในปี 2015 ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2014 ถึง 7.7% ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดตั้งแต่ปี 2008 และเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นสูงที่สุดตั้งแต่ปี 1966 และอัตราการตายเพิ่มขึ้นเป็น 1.12 คน ต่อ 100 ล้านไมล์ ที่รถในสหรัฐฯ วิ่งในปี 2015 เป็นอัตราที่สูงสุดตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งปัญหาหลักก็เหมือนเมืองไทย คือ ความเร็วและการเมาแล้วขับ [4]

ส่วนปี 2016 ตายสูงสุดในรอบ 9 ปี! มูลค่าความเสียหายประมาณ 432,500 ล้านดอลลาร์! ($432.5 billion) และอาจเป็นปีที่อันตรายที่สุดตั้งแต่ปี 2007 ข้อมูลเบื้องต้นจากสภาความปลอดภัยแห่งชาติ (National Safety Council) ระบุว่าประมาณ 4.6 ล้านคนได้รับบาดเจ็บในระดับที่ต้อง 'ถึงมือหมอ' หรือเพิ่มขึ้น 6% จากปี 2015 ส่วนผู้เสียชีวิต 40,200 คน เพิ่มขึ้น 7%, และหากเทียบกับปี 2014 เพิ่มขึ้น 14% เป็นการเพิ่มขึ้นระยะ 2 ปีที่สูงที่สุดในรอบ 53 ปี! (เมื่อนับเป็นระยะทางที่รถทั้งประเทศสหรัฐฯวิ่ง พบว่ามีผู้เสียชีวิต 1.25 คน ต่อ 100 ล้านไมล์ เพิ่มขึ้น 3% จากปี 2015) [5]

ส่วนปี 2016 นอร์เวย์ได้รางวัลชนะเลิศจากสหภาพยุโรปหรือ EU ในฐานะประเทศใน EU ที่ % ของจำนวนผู้เสียชีวิตทางถนนลดลงที่สุด (-20%) จากปี 2014-2015 และหากนับจากปี 2010-2015 ก็ยังเป็นนอร์เวย์เช่นเคยที่ % ลดลงที่สุด เพราะลดลงถึง 44% [6] และยุโรปเป็นภูมิภาคที่ตายทางถนนน้อยที่สุดในโลก [7]  

ตัวเลขสูงขึ้นระดับนี้ คงยากจะพูดว่าตายเพราะเมาแล้วขับลดลง

ทั้งนี้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสหรัฐฯในแต่ละมลรัฐแตกต่างกัน [8] ตัวอย่างเช่น มลรัฐยูทาห์ (Utah) [9] ร้านอาหาร: ขายเหล้า เที่ยงวัน-เที่ยงคืน, เบียร์ 10 โมงเช้า - ตี1, บาร์: ขายเหล้าตั้งแต่ 10 โมงเช้า – ตี 1 'ร้านค้า' ที่ถูกควบคุมโดยมลรัฐ ปิดทำการวันอาทิตย์ ส่วนจันทร์-เสาร์ ร้านปิดเวลา 22:00 น. ทั้งนี้ร้านอาหารต้องซื้อจากร้านที่ถูกควบคุมโดยมลรัฐเท่านั้น ในราคาขายปลีก โดยถ้าไม่สั่งอาหาร ร้านอาหารจะไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้, ไม่มีการขายเป็นถัง และบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ห้ามนำเข้า (import) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสู่มลรัฐ

วิหารมอร์มอนที่ Salt Lake ในยูทาห์ ที่มาภาพ: LDS Temples

แม้ว่า 63% ของชาวยูทาห์นับถือศาสนาคริสต์นิกาย 'มอร์มอน' (Mormon - The Church of Jesus Christ of Latter-day Saints: การห้ามดื่มสุรา และการไม่ทำมาหากินวันอาทิตย์ เป็นส่วนหนึ่งในหลักปฏิบัติสำคัญของมอร์มอน) แต่สมาชิกสภานิติบัญญัติของมลรัฐยูทาห์ [10] มีถึง 88% ที่เป็นมอร์มอน, สัดส่วนเช่นนี้มิได้เพิ่งเกิดขึ้น จากผลสำรวจโดยมหาวิทยาลัยยูทาห์ (University of Utah) สัดส่วนนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 1991 ซึ่งพบว่า 91 ใน 104 ของสมาชิกสภานิติบัญญัติเป็นมอร์มอนที่แข็งขัน (active) แต่ก็ไม่ได้มีกฎห้ามขายสุราวันอาทิตย์

รู้หรือไม่?

บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก 10 บริษัท มีบริษัทที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ 3 บริษัท ได้แก่ (เผยแพร่เมื่อ ก.ค. 2015) 1.Red Brick Brewing Company ก่อตั้งในปี 1993 รายได้สุทธิของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่ามีมูลค่าประมาณ 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี 2.Anchor Brewing Company ก่อตั้งในปี 1896 กำไรประจำปีของบริษัทประมาณ 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 3.Allagash Brewing Company ก่อตั้งในปี 1994 รายได้ประมาณ 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ทั้งนี้ใน 10 อันดับแรกนี้ไม่มีบริษัทที่ตั้งในนอร์เวย์เลย [11]


ส่วนที่นอร์เวย์ พบว่าช่วงเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นหากจะซื้อ
เบียร์ในร้านค้าทั่วไป ในวันจันทร์-ศุกร์ สามารถซื้อได้ถึงเวลา 2 ทุ่ม, วันเสาร์ถึง 6 โมงเย็น และวันอาทิตย์นั้นงดขายครับ! ส่วน 'ไวน์ เหล้า หรือเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ระดับสูง' ต้องซื้อที่ร้าน Vinmonopolet ซึ่งเปิดจันทร์-พุธ เวลา 10:00-17:00 . , พฤหัสบดี-ศุกร์ เวลา 10:00-18:00 และเสาร์ 10:00-15:00 . ส่วนวันอาทิตย์ปิด! นอกจากเวลาข้างต้น และวันอาทิตย์ ต้องไปที่ร้านอาหาร/บาร์ โดยเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์สูงกว่า 22% จะขายเวลา 13:00-24:00. ส่วนเครื่องดื่มที่มีระดับแอลกอฮอล์ต่ำกว่านั้น ขายเวลา 08:00-01:00 . [12] [13] [14]

นอกจากนี้ในนอร์เวย์มีบริษัทเดียวเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ในระดับที่สูงกว่า 4.75% คือ Vinmonopolet ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1922 ในฐานะบริษัทจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของรัฐ ซึ่งเป็นเครื่องมือทางนโยบายของรัฐบาลนอร์เวย์ เพื่อจำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของพลเมือง หลัก ๆ แล้วคือการทำให้ราคาสูงและจำกัดการเข้าถึง [15]

ราคาเฉลี่ยเครื่องดื่มทั่วไป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ นอร์เวย์แพงที่สุดใน EU (ตัวเลข คือ %จากค่าเฉลี่ยของ EU โดยค่าเฉลี่ย = 100 ที่มา: ec.europa.eu

เมื่อถามว่า ‘บริษัทของรัฐ-ปิดวันอาทิตย์’ เกี่ยวกับศาสนาคริสต์หรือไม่? ทุกวันนี้สังคมนอร์เวย์ 'ออกห่าง' จากศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ [is becoming more and more secular] คือศาสนามีความสำคัญน้อยกว่าในอดีต ทั้งต่อบุคคลทั่วไป และการร่างกฎหมายของประเทศ [16]

การแบ่งกลุ่มมลรัฐที่ประชาชนเสียชีวิตทางถนนเนื่องจากระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (BAC) ตั้งแต่ 0.08 ขึ้นไปของสหรัฐฯ ในปี 2014 ที่มาภาพ: wikipedia

ส่วนที่สหรัฐฯ จากการแบ่งกลุ่มมลรัฐที่ประชาชนเสียชีวิตทางถนนเนื่องจากระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (BAC) ตั้งแต่ 0.08 ขึ้นไป ในปี 2014 ยูทาห์ก็ติด 1 ใน 20 ของกลุ่มที่ตายน้อยที่สุด คือระหว่าง 5-106 คน

แม้ยูทาห์ดูเหมือนเกี่ยวข้องกับศาสนา แต่นอร์เวย์ 'ออกห่าง' จากศาสนามากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม สภานิติบัญญัติของยูทาห์ที่ active ทางศาสนา ก็ไม่ได้สั่งปิด 'บาร์' วันอาทิตย์ และหากพิจารณาร่วมกับการมี 3 ใน 10 ของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่สหรัฐฯ ก็ไม่พบหลักฐานว่าสภาฯที่สมาชิกส่วนใหญ่เคร่งครัดในศาสนาถูก 'ล็อบบี้' โดยบริษัทเหล้าเบียร์ยักษ์ใหญ่

ทว่าร้านที่ถูกควบคุมโดยมลรัฐยูทาห์ก็ 'ปิด' ช้ากว่า Vinmonopolet ถึงสัปดาห์ละ 30 ชั่วโมง (ขอไม่นับเวลา 'เปิด' เพราะน้อยคนที่จะ 'ดื่ม' ก่อนเที่ยง)

คะแนน 'หน่วยงานรัฐด้านกฎหมาย ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว' (Factor 2.4) ที่มาข้อมูล: worldjusticeproject.org

แต่สำหรับคนที่อยู่นอกสภานิติบัญญัติ ก็มีดัชนีชี้วัดประจำปี โดยเป็นส่วนหนึ่งของคะแนน Rule of Law Index ที่ถูกผนวกเข้ากับดัชนีอื่นๆใน 'ดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น' (Corruption Perception Index - CPI) ขององค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International) และจากการเปรียบเทียบคะแนน 'หน่วยงานรัฐด้านกฎหมาย ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว' (Factor 2.4) จะเห็นว่านอร์เวย์ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญทุกปี

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: wikipedia.org

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:

ฐานันดร ชมภูศรี แอดมินเพจ Make Life Safe Again ปัจจุบันมีการรณรงค์เรื่อง 'แก้กฎหมายความเร็ว "ในเมือง" ให้ไม่เกิน 60 กม./ชม' ผ่าน change.org เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติแก้กฎหมายความเร็ว "ในเมือง" ให้ไม่เกิน 60 กม./ชม. โดยระบุว่าประเทศที่อุบัติเหตุและการเสียชีวิตบนท้องถนนน้อยกว่าไทยมีกฎหมายบังคับความเร็วที่เข้มงวดกว่า 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: