เถียงไม่จบ ‘กล้องจับความเร็ว’ ลด ‘อุบัติเหตุ-เจ็บ-ตาย’ ได้หรือไม่?

ฐานันดร ชมภูศรี ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ: 6 ก.ค. 2561 | อ่านแล้ว 3983 ครั้ง

มีงานศึกษาในต่างประเทศระบุว่า 'กล้องตรวจจับความเร็ว' ช่วยลดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บสาหัสและการตายได้ แต่ก็ยังมีงานศึกษาที่ระบุว่ากล้องตรวจจับความเร็วไม่มีนัยทางสถิติว่าทำให้จำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ส่วนบ้านเรามีการเก็บสถิติพบช่วยทำให้คนขับรถช้าลง ลดอุบัติเหตุ-เจ็บ-ตาย ทั้งเขตเมืองและชนบท ที่มาภาพประกอบ: Geograph (Creative Commons Licence)

 

รายงานชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจาก ‘โครงการพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชน: ความปลอดภัยทางถนน รุ่นที่ 3 More Untold Stories: Road Safety Journalism Fellowship 2018’

 

งานศึกษาของมหาวิทยาลัย London School of Economics and Political Science (LSE) แสดงให้เห็นว่ากล้องตรวจจับความเร็วแบบติดตั้งอยู่กับที่ (fixed speed cameras) ในสหราชอาณาจักรมีประสิทธิภาพในการลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนและจำนวนผู้เสียชีวิตได้จริง โดยใช้ข้อมูลนับจากปี 1992 ถึง 2016 พบว่ากล้องจับความเร็วสามารถลดอุบัติเหตุลงได้ร้อยละ 17 - 39 และผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 58 - 68 ในระยะทาง 500 เมตร ของกล้องที่ทำการเก็บข้อมูล งานศึกษาได้วิเคราะห์ข้อมูลผลลัพธ์ของอุบัติเหตุ ก่อน-หลัง ที่มีการติดตั้งกล้องจับความเร็ว จำนวน 2,500 พื้นที่ในประเทศอังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์ ซึ่งใช้ข้อมูลจาก 2 แหล่ง ทั้งกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานท้องถิ่นทั่วสหราชอาณาจักร โดยพบว่าห่างออกไปเกิน 1.5 กิโลเมตร จึงจะพบจำนวนอุบัติเหตุที่สูงกว่าระยะ 500 เมตร ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากปรากฏการณ์แกงการู (kangaroo effect) ที่ผู้ขับขี่จะลดความเร็วลงเมื่อใกล้จะถึงระยะที่กล้องสามารถตรวจจับได้เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับ และจะเร่งความเร็วขึ้นเมื่อพ้นจากระยะของกล้อง แม้จะเป็นเช่นนี้ แต่ผู้ทำวิจัยก็อธิบายว่าอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตโดยรวมแล้วลดลง แม้กล้องจับความเร็วแบบติดตั้งอยู่กับที่จะช่วยให้อุบัติเหตุและการเสียชีวิตทางถนนลดลง แต่เพื่อป้องกันปรากฏการณ์แกงการู ผู้วิจัยแนะนำว่าควรเสริมด้วยกล้องจับความเร็วแบบพกพาได้ (mobile speed cameras) ซึ่งจะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายกินพื้นที่ได้กว้างขวางกว่า [1]

ขณะที่ Transport for New South Wales ที่ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่ามีเพียงน้อยคนที่ต้องเสียค่าปรับ ซึ่งผู้ขับขี่ร้อยละ 99 สามารถผ่านกล้องจับความเร็วไปได้โดยไม่ต้องเจอปัญหาอะไร แล้วค่าปรับที่ถูกเก็บก็ถูกใช้ไปกับโครงการเพื่อความปลอดภัยทางถนนต่าง ๆ โดยตรง [2]

นับจากที่มีการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วที่ถนนในประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี 1992 มันก็ได้กลายเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของผู้ขับขี่จำนวนมาก สำนักข่าว BBC รายงานในปี 2010 ชี้ว่าผู้ขับขี่จำนวนมากเชื่อว่ากล้องจับความเร็วมีไว้เพื่อหาเงินเข้ารัฐ มากกว่าจะลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทางถนน [3]  โดยมีข้อมูลจากสำนักงานตำรวจสกอตแลนด์ระบุว่ากล้องจับความเร็วแบบพกพาได้ สามารถเก็บค่าปรับได้ 2.75 ล้านปอนด์ในปี 2012/13 ขณะที่กล้องแบบติดตั้งอยู่กับที่เก็บได้ 1.5 ล้านปอนด์ [4]

ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าพื้นที่ Thames Valley region ในอังกฤษ ที่ติดตั้งกล้องแบบอยู่กับที่จำนวน 212 แห่ง จากข้อมูลของระยะเวลา 3 ปีก่อนติดตั้งกล้องแต่ละตัว เทียบกับข้อมูล 3 ปีหลังจากที่ติดตั้งกล้องแล้ว พบว่าอุบัติเหตุทางถนนลดลงร้อยละ 38 อย่างไรก็ตามข้อมูลของสหราชอาณาจักรระยะเวลา 11 ปี จาก ค.ศ.1998 – 2008 อันเป็นช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ขยายการควบคุมความเร็วด้วยกล้องจับความเร็ว กลับพบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตกลับค่อนข้างคงที่ อย่างไรก็ดี การบาดเจ็บสาหัสนั้นลดลง แต่ผู้ไม่ชอบกล้องจับความเร็วก็สามารถโต้แย้งได้ว่ายังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานที่ดีขึ้นด้านความปลอดภัยของรถ ทั้งนี้มีรายงานเมื่อปี 2004 ของมหาวิทยาลัย University College of London ที่อังกฤษ ศึกษากล้องจับความเร็ว 4,000 ตัวในช่วงเวลา 3 ปี พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสลดลงร้อยละ 42 [5]

ส่วนงานวิจัยของ RAC Foundation ที่ศึกษากล้องจับความเร็วแบบติดตั้งอยู่กับที่ใน 9 เมืองของประเทศอังกฤษ รวมทั้งสิ้น 551 ตัว โดยใช้ข้อมูลอุบัติเหตุของปี 1990 - 2010 ก่อนและหลังติดตั้งกล้องจับความเร็ว พบว่าพื้นที่ของกล้อง 530 ตัว คิดเป็นร้อยละ 96.2 ของขนาดพื้นที่ที่ศึกษา มีทั้งที่อุบัติเหตุลดลงและไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้เฉลี่ยแล้วจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสลดลงร้อยละ 27 หลังจากติดตั้งกล้อง อย่างไรก็ตามมีพื้นที่ของกล้อง 21 ตัว คิดเป็นร้อยละ 3.8 ของขนาดพื้นที่ที่ศึกษาเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ [6] [7]

มีอีกการศึกษาหนึ่งที่ใช้ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนของเมืองฟินิกส์ มลรัฐแอริโซนา เป็นถนนที่มีความเร็วสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต ไม่เกิน 65 ไมล์ต่อชั่วโมง (104.6 กม./ชม.) จากถนนความยาว 40 ไมล์ที่ผู้วิจัยเลือก มี 26 ไมล์ที่ทุก ๆ 2 ไมล์จะมีกล้องจับความเร็ว แบ่งข้อมูลเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1.ช่วงที่ยังไม่มีกล้อง: เก้าเดือนแรกของปี 2008, 2.ช่วงที่มีกล้อง: เก้าเดือนแรกของปี 2009, 3.ช่วงที่ปิดการใช้งานกล้องไปแล้ว: เก้าเดือนแรกของปี 2011 โดยนำข้อมูลของ 3 ช่วงนี้มาเปรียบเทียบกับอีก 14 ไมล์ที่ไม่มีกล้องเลย ผลลัพธ์ที่ปรากฏคือกล้องตรวจจับความเร็วไม่มีนัยทางสถิติว่าทำให้จำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้นหรือลดลง (… speed cameras did not statistically contribute to an increase or decrease in the number of MVC.) [8]

ไทย – กล้องทำคนขับรถช้าลง ลดอุบัติเหตุ-เจ็บ-ตาย ทั้งเขตเมืองและชนบท

ขณะที่ข้อมูลในประเทศไทยนั้น ดร.กัณวีร์ กนิษฐพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิไทยโรดส์ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ชี้ว่าเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อลดอัตราการใช้ความเร็วลงตามกฎหมายกำหนดนั้น ที่อังกฤษทำการประเมินผ่านการกล้องตรวจจับความเร็วแบบติดตั้งอยู่กับที่ทั่วประเทศ 502 ตำแหน่ง สามารถลดความเร็วที่เกินกำหนดได้ร้อยละ 70 ขณะที่กล้องจับความเร็วแบบเคลื่อนที่สามารถลดได้เฉลี่ยร้อยละ 53 โดยส่งผลต่อการลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ร้อยละ 20 ในเขตเมือง ขณะที่ในชนบทลดได้มากถึงร้อยละ 65 ส่วนเครื่องตรวจจับแบบเคลื่อนที่สามารถลดอัตราเสียชีวิตในเขตเมืองได้ ร้อยละ 45 ในชนบทร้อยละ 20 ส่วนผู้บาดเจ็บสามารถช่วยลดมากกว่าครึ่งหนึ่ง โดยอังกฤษได้มีการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์  จากการลงทุนที่สูงกับเครื่องมือเหล่านี้ บวกด้วยการลดต้นทุนทางการแพทย์ รักษาพยาบาลและการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการตายของคน พบว่าปี 2015 ค่าติดตั้ง 420 จุด จำนวน 226 ล้านบาท ค่าบำรุง 155 ล้านบาท สิ่งที่ได้รับอย่างแรกคือ ค่าปรับ 289 ล้านบาท มูลค่าที่ได้รับจากการลดอุบัติเหตุ 1,300 ล้านบาทต่อปี และยังพบว่า มูลค่าปัจจุบันการติดตั้งกล้องได้กำไร 1,135 ล้านบาท ลงทุน 4-5 ร้อยล้านบาท คืนทุน 5 เท่าภายในหนึ่งปี และใน 10 ปี จะคืนทุนถึง 10 เท่า เทียบกับไทยแล้วอังกฤษมีอุบัติเหตุน้อยกว่า 10 เท่า มีอัตราการตาย 1,800 คนต่อปี ขณะที่คนไทยตายบนท้องถนนมากถึง 22,000 คนต่อปี ดังนั้นหากคำนวณในแง่การคืนทุนเราจะคุ้มทุนมากหากสามารถลดการเสียชีวิตของคนลงได้ [9]

ในเว็บไซต์’พิมพ์เขียวแนวทางการจัดการความเร็ว’ ระบุว่ากล้องจับความเร็วเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ แคนาดา และนิวซีแลนด์ หรือแม้กระทั่งในประเทศไทยเอง ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบังคบใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ยังสามารถช่วยลดปัญหาด้านกำลังพลของตำรวจ รวมถึงความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการตั้งด่านตรวจจับความเร็วบางรูปแบบ โดยมีการศึกษาประสิทธิผลของการใช้กล้องจับความเร็วอัตโนมัติบนถนนในประเทศอังกฤษทั้งเขตเมืองและนอกเมือง พบว่าการใช้กล้องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุได้สูงสุดถึงร้อยละ 33 และผู้ขับขี่ที่ใช้ความเร็วเกินกำหนดลดลงร้อยละ 31

การติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วแบบอัตโนมัติบนถนน แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน 
1. การติดตั้งกล้องแบบมองเห็นได้ชัดเจน เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่ลดความเร็วลง ในบริเวณที่กำหนดไว้ ได้แก่ จุดเข้าเขตชุมชน เขตโรงเรียน เขตก่อสร้าง รวมถึงบริเวณทางลงเขา และจุดอันตรายต่างๆ   และ 2. การติดตั้งกล้องแบบซ่อนหรืออำพรางไว้ (Hidden Speed Camera) มิให้ผู้ขับขี่สังเกตเห็นตำแหน่งที่ติดตั้งกล้องอย่างชัดเจน โดยมีเฉพาะป้ายเตือนไว้ เพื่อให้ผู้ขับขี่ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ความเร็วเป็นพิเศษตลอดเส้นทาง มิเช่นนั้นผู้ขับขี่อาจเพียงชะลอความเร็วเมื่อขับขี่ผ่านกล้องเท่านั้น [10]

การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน โดยกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขพบว่าในปี 2558 มีผู้เสียชีวิต 19,479 ราย ปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 22,356 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 61 คน และยังพบอีกว่ามีผู้พิการรายใหม่กว่าปีละ 5,000 - 6,000 คน ซึ่งกรมทางหลวงระบุว่า อุบัติเหตุร้อยละ 77 เกิดจากความเร็ว และนำไปสู่การเสียชีวิตร้อยละ 64 โดย Thai PBS ระบุว่าเครื่องมือตรวจจับความเร็วจะเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตลงได้ ขณะที่ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ชี้ว่ามีบทพิสูจน์ที่ชัดเจนจากการติดตั้งเครื่องตรวจจับความเร็วแบบติดตั้งใน 5 จุดเสี่ยง บนถนน 118 อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และถนนมิตรภาพ ช่วง 14 กม. ซึ่งพบว่าความเร็วเฉลี่ยลดลงและการเสียชีวิตลดลงด้วย แต่การใช้เครื่องดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพได้ก็ต่อเมื่อทำมาตรการอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะการร่วมลงทุนในการจัดซื้อระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับหน่วยงานเอกชน

ผู้จัดการ ศวปถ.ยังตั้งข้อสังเกตถึงการตั้งงบประมาณจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วของหน่วยงานที่ต้องใช้อุปกรณ์ ตั้งแต่การสำรวจความต้องการใช้งานจริง จัดทำแผนและอนุมัติการจัดซื้อ เห็นได้จากสำนักงานตรวจแห่งชาติไม่ได้จัดทำแผนใช้งบจำนวนมากในการจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็ว เพราะกระทบงบประมาณโดยรวมของหน่วยงาน ดังนั้นการจัดซื้อจึงเลือกใช้งบกลางเร่งด่วน ผ่านกลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เห็นได้จากการจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพาล็อตใหญ่ที่สุดมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบปัญหาเครื่องตรวจจับความเร็วที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ ใช้ ยังขาดกระบวนการติดตามการใช้เครื่องมือให้มีประสิทธิภาพและประเมินความคุ้มค่า [11]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] LSE, Speed cameras reduce road accidents and traffic deaths, according to new study
[2] Transport for New South Wales, Speed Cameras
[3] BBC, Do speed cameras really cut accidents?
[4] The Telegraph, Police admit using mobile speed cameras are 'like shooting fish in a barrel'
[5] BBC, Do speed cameras really cut accidents?
[6] RAC Foundation, Speed camera data  [] The Guardian, Reality check: do speed cameras reduce serious road accidents?
[7] The Guardian, Reality check: do speed cameras reduce serious road accidents?
[8] US National Library of Medicine, Do Speed Cameras Reduce Collisions?
[9] สำนักข่าวอิศรา, นักวิชาการหนุนซื้อเครื่องจับความเร็ว แนะตั้งผู้สังเกตการณ์จัดซื้อให้โปร่งใส
[10] เว็บไซต์พิมพ์เขียวแนวทางการจัดการความเร็ว, ระบบกล้องตรวจจับความเร็วแบบอัตโนมัติ Automatic Speed Camera
[11] Thai PBS, ข้อสังเกตใช้งบกลางจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็ว



 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: