ทำไมต้องมี ‘กฎหมายขับขี่ในเมืองไม่เกิน 50 กม./ชั่วโมง’ และ ‘การบังคับใช้อย่างจริงจัง’

ฐานันดร ชมภูศรี 17 พ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 3863 ครั้ง

คลิปโดย ‘ฐานันดร ชมภูศรี’ จากการสนับสนุนโดย ‘โครงการพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชน: ความปลอดภัยทางถนน รุ่นที่ 3 More Untold Stories: Road Safety Journalism Fellowship 2018’

ต.ค. 2559 ประเทศไทยได้ข้อสรุปจากการระดมความเห็นเรื่องการปรับปรุงกฎหมายความเร็วและการบังคับใช้ใน 'เขตเมืองและเขตชุมชน' จากเดิม 80 กม./ชม. ให้เหลือ 50 กม./ชม. [1] ซึ่งเมื่อบังคับใช้แล้วมีตัวอย่างที่ได้ผล เช่น มหาสารคาม สามารถลดความเร็วเขตเมืองเหลือไม่เกิน 40 กม./ชม. โดยติดตั้งป้ายเตือน ตั้งด่าน ซึ่งอุบัติเหตุลดลงไป 30% [2]

แต่เวลาผ่านไป 1 ปี 6 เดือน พบว่ายังมีเพียงบางเส้นทางของ 27 จังหวัด + 8 เส้นทางของ กรุงเทพฯ ที่ประกาศใช้กฎหมายขับขี่ในเขตเมือง ไม่เกิน 60 กม./ชม. หรือ ไม่เกิน 40 กม./ชม. โดยมีกฎหมายที่ให้รถทุกประเภทใช้ความเร็วไม่เกิน 40 กม./ชม. ใน 21 เส้นทาง ของ 3 จังหวัด (ไม่นับหน้าโรงเรียน โรงพยาบาล ชุมชน ที่กำหนดให้ไม่เกิน 30 กม./ชม. อยู่แล้ว) ได้แก่ 1.นครพนม 1 เส้นทาง  2.มหาสารคาม 1 เส้นทาง และ 3.ตราด 19 เส้นทาง รวมจังหวัดที่มีการประกาศใช้กฎหมายควบคุมความเร็วในเมืองให้ไม่เกิน 60 กม./ชม. หรือ ไม่เกิน 40 กม./ชม.รวมทั้งประเทศ 80 เส้นทาง ซึ่งเมื่อตัดกรุงเทพฯและจังหวัดตราดออกไป จะเหลือจังหวัดละ 2 เส้นทาง [3]

สำหรับกรณีของไทยนั้นมีลักษณะบางอย่างร่วมกับสหรัฐอเมริกา ที่ออกกฎหมายจำกัดความเร็วโดยรัฐบาลของแต่ละรัฐ (รัฐบาลท้องถิ่น) แล้วได้กฎหมายจำกัดการใช้ความเร็วในเขตเมือง (รวมถึงนอกเมือง) ที่แตกต่างหลากหลาย [ความเร็วสูงสุดในเขตเมือง ที่กฎหมายอนุญาต (Max urban speed limit) ของสหรัฐอเมริกา มีตั้งแต่ ไม่เกิน 32 กม./ชม. จนถึงไม่เกิน 121 กม./ชม.] [4] [5] แล้วรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐฯที่มีกฎหมายควบคุมความเร็วในเขตเมือง ‘ต่ำกว่า’ ส่วนใหญ่แล้วเสียชีวิตน้อยกว่า [6]

จากการสืบค้นพบว่าทุก ๆ ประเทศในทวีปยุโรป ใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ (National speed limit) จากทั้งหมด 50 ประเทศของยุโรป มีถึง 45 ประเทศ ที่มีกฎหมายอนุญาตให้ขับขี่ใน ‘เขตเมือง’ ไม่เกิน 50 กม./ชม. เป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนของจำนวนประเทศมากที่สุดที่ห้ามขับขี่เกิน 50 กม./ชม. ในเขตเมือง [5] เพราะหากขับขี่ด้วยความเร็ว 60 กม./ชม. เมื่อเกิดการชนแรงปะทะจะเท่ากับตกตึก 5 ชั้นแล้ว และหากขับขี่ด้วยความเร็ว 80 กม./ชม. (ความเร็วสูงสุดในเขตเมืองของจังหวัดส่วนใหญ่ตามกฎหมายไทย) แรงปะทะจะเท่ากับตกตึก 8 ชั้น [7] แล้วอัตราการเสียชีวิตจากการจราจรทางถนนต่อประชากร 1 แสนคน ยุโรปก็เสียชีวิต ‘น้อยที่สุด’ เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ [8]

สัดส่วนของจำนวนผู้เสียชีวิตทางถนนในเมืองกับนอกเมืองของสหรัฐฯ ใกล้เคียงกัน แต่ที่ยุโรปกลับต่างกัน (พิจารณาจากแผนภูมิด้านล่าง) [9]

ดัดแปลงแผนภูมิจาก  OECD Road Safety Annual Report 2017

 

รู้หรือไม่?

ตั้งแต่ปี 2556 แล้ว ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยแพร่เอกสารภาษาไทยที่กล่าวถึงกฎหมายการใช้ความเร็วที่เหมาะสม ซึ่งมิได้ใช้คำว่า ‘นอกเมือง’ ‘ในเมือง’  ‘เขตเทศบาล’ หรือ ‘พื้นที่ชุมชน’ แต่เป็นการอธิบายลักษณะของถนน โดยใช้ข้อมูลจากเอกสารของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติสำหรับยุโรป (UNECE) ภูมิภาคที่เสียชีวิตทางถนนน้อยที่สุดในโลก ได้แนะนำหลักการที่สรุป จากนโยบายของ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย ว่าทางเเยกที่อาจเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกันด้านข้าง ควรจำกัดความเร็วไม่ให้เกิน 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง อีกทั้งยังแนะนำว่า การสร้าง ‘วงเวียน’ จะดีกว่าติดตั้งสัญญาณไฟจราจร [10] [11]

 

ที่มาภาพ : OUR WORLD IN DATA, Motor vehicle, motorcyclist, cyclist & pedestrian deaths

ทั่วโลก 10 ปีหลังสุด จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนด้วยสาเหตุต่าง ๆ รวมกัน แทบไม่ลดลง มีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 1.25 ล้านคน และอีกประมาณ 5 ล้านคน ได้รับบาดเจ็บสาหัส [12]

“ความปลอดภัยทางถนนเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน”

ปริ้นส์ เซอิด รา’อาด เซอิด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวที่งาน ‘เทศกาลภาพยนตร์เพื่อความปลอดภัยทางถนน’ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก.พ. 2017 ที่มาภาพ: Twitter, UN Geneva

การบังคับใช้กฎหมาย

องค์การอนามัยโลกระบุว่าไทยได้ ‘คะแนนการบังคับใช้กฎหมายจำกัดความเร็ว’ เพียง 3 คะแนน จาก 10 คะแนน แต่ที่ยุโรปจากทั้งหมด 50 ประเทศ มีเพียงตุรกีเท่านั้นที่ได้ 4 คะแนน ที่เหลือได้ 5 ถึง 8 คะแนน [5] ซึ่งหากมีกฎหมายขับขี่ในเขตเมือง ไม่เกิน 50 กม./ชม. แล้วมีการติดตั้งป้ายเตือน กล้องตรวจจับความเร็ว บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งมีการศึกษาที่ยืนยันว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ถึง 40%

ทั้งนี้พบว่าในด้านอุปสรรคนั้น ‘การขาดแคลนบุคลากร’ เป็นปัญหาที่สำคัญ เพราะภารกิจของ ‘ตำรวจจราจร’ ในไทย 80% ไปอยู่กับการ ‘กดสัญญาณไฟหรือโบกรถ’ ซึ่งต่างจากประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนตำรวจมีหน้าที่ตรวจตราและจับกุมผู้ทำผิดกฎจราจรเป็นหลัก [2]

รู้หรือไม่?

ที่ประเทศอังกฤษ มีนโยบาย Community Speed Watch ที่คนฝ่าฝืนความเร็วตามกฎหมาย 3 ครั้ง ก็ยังไม่เสียค่าปรับ เป็นการให้คนของแต่ละชุมชนเป็นอาสาสมัครตรวจจับความเร็วด้วยเทคโนโลยี โดยหลักการจะไม่เก็บค่าปรับคนที่ฝ่าฝืนความเร็วตามกฎหมาย โดยเมื่อทำผิดครั้งแรก และครั้งที่ 2 ตำรวจจะส่งจดหมายไปที่บ้าน ผิดครั้งที่ 3 ตำรวจจะไปเยี่ยมบ้าน และไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ครั้งที่ 4 ต้องเสียค่าปรับหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ข้อมูลความผิดโดยตำรวจ

 

ข้อมูลอ้างอิง

[1] PPTV เตรียมชงลดความเร็วขับขี่ในเมืองเหลือ 50 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง
[2] แนวหน้า, 'แว้น-ซิ่ง' ทำคนไทยตายบนถนนยิ่งกว่าเมาแล้วขับ นักวิชาการชี้ต้องเข้มกม.คุมความเร็ว
[3] เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา [คำค้น ‘ความเร็ว’ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 พ.ค. 2561)]
[4] Universitat de Barcelona, Speed limit laws in America: Economics, politics and geography
[5] WHO, Violence and Injury Prevention Country Profiles 2015
[6] Auto Insurance Center, The Law vs. Loss of Life
[7] ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.)
[8] องค์การอนามัยโลก, การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน: ข้อเท็จจริง
[9] OECD Road Safety Annual Report 2017
[10] องค์การอนามัยโลก, การเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางถนน: คู่มือการปฏิบัติและทรัพยากรสําหรับประเทศต่าง ๆ
[11] WHO, Speed management: a road safety manual for decision-makers and practitioners
[12] Stand Up 4 Human Rights, Road safety is a human rights issue

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: