'ชิบูย่าอุดร' จุดเริ่มต้นอุดช่องโหว่รับฟังความเห็น? พบ ‘เมืองเดินได้’ ขนาดใหญ่ลดอุบัติเหตุทางถนนได้

ฐานันดร ชมภูศรี: 3 ก.ย. 2562 | อ่านแล้ว 4212 ครั้ง


'แยกชิบูย่าอุดรฯ' หนึ่งในสีแยกที่มีทางม้าลายขนาดใหญ่ เป็นแลนด์มาร์กทางเศรษฐกิจคล้ายแยกชิบูย่าในประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ 'อุดรธานี Walkable City' ทั้งนี้จากสถิติ-ประสบการณ์ต่างประเทศพบ ‘เมืองเดินได้’ ขนาดใหญ่ลดอุบัติเหตุทางถนนได้ มาพร้อมกับความสะดวกของ ‘จักรยาน’ เอื้อให้เกิด SME หน้าใหม่ ที่มาภาพ: Highlight Kapook

“แยกชิบูย่าอุดรฯ” หนึ่งในสีแยกที่มีทางม้าลายขนาดใหญ่ เป็นแลนด์มาร์กทางเศรษฐกิจคล้ายแยกชิบูย่าในประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ “อุดรธานี Walkable City” ที่แยกทองใหญ่ ย่านธุรกิจสำคัญของอุดรธานี ที่ภาคเอกชนในอุดรธานีได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย เป็นการทดลองนวัตกรรมการรับฟังความคิดเห็นแบบ Tactical Urbanism เพื่ออุดช่องโหว่ความไร้ประสิทธิภาพของการรับฟังความเห็นแบบเดิมๆ [1]

ในส่วนของแนวคิด ฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทยอธิบายความสำคัญของ Tactical Urbanism ไว้ว่าโครงการการวางผังเมืองและการออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูเมืองของไทยที่มุ่งหวังให้เกิดผลด้านเศรษฐกิจขนานใหญ่ หรือการวางแผนพัฒนาโครงการที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ รัฐควรเลือกใช้เทคนิค Tactical Urbanism เป็นเครื่องมือในการรับฟังความคิดเห็น แม้จะต้องเสียงบประมาณเป็นจำนวนมากในการเตรียมการ แต่ผลที่ได้จะมีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับความถูกต้องแม่นยำจากความต้องการที่แท้จริงที่ได้รับจากกลุ่มเป้าหมาย โดย Tactical Urbanism เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นเนื่องจากความไร้ประสิทธิภาพของการรับฟังความเห็นแบบเดิม ๆ ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ทดสอบใช้ประโยชน์หรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์จำลอง จะทำให้ทราบถึงความรู้สึกเชิงบวกและเชิงลบที่ได้รับจากสถานการณ์นั้น โดยประเด็นส่วนใหญ่ที่รับฟังได้แก่ การใช้ประโยชน์ที่ดิน การวางแผนโครงข่ายขนส่งมวลชน การออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูเมือง การออกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน อาคาร และสภาพแวดล้อมเมือง Tactical Urbanism จึงเปรียบเสมือนกลยุทธ์การอุดช่องโหว่ความคลาดเคลื่อนผลการรับฟังความคิดเห็น [2]

ผลได้ที่สำคัญคือ การรับรู้ความต้องการจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ แม้ไม่ได้ตั้งใจจะเข้าร่วมกิจกรรม แต่จากการได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากสถานการณ์ กลุ่มดังกล่าวจะแสดงข้อคิดเห็นในทุกมิติออกมา ทำให้การสรุปผลจากสถานการณ์ถูกต้องแม่นยำ เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีปริมาณมากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมการทดสอบ และจะสามารถทดสอบหาค่ากลางที่ยอมรับได้ด้านนโยบายสาธารณะ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงฟื้นฟูถนน

ทางม้าลายใหญ่ ยังลดอุบัติเหตุไม่ได้

แม้ว่าจะ มีเครื่องมือที่เอื้อต่อคนเดิน เช่น ทางม้าลายขนาดใหญ่ ป้ายสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับการเดินที่เพิ่มมากขึ้น, การปรับสัญญาณไฟจราจรที่มีไฟแดงพร้อมกันทั้ง 4 ด้าน, และกราฟิกบนพื้นถนนที่สร้างพื้นที่ยืนรอในตำแหน่งที่รถยนต์จะสามารถมองเห็นคนยืนรอข้ามได้อย่างชัดเจน [3]

ที่มาภาพ: เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์ | Facebook

ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณะสุข (สสจ.) อุดรธานี ชี้ว่าจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุที่เปลี่ยนแปลงอาจยังไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือ ก่อนทำ ช่วง 1 ต.ค. 2560 - 26 พ.ย. 2561 อุบัติเหตุ 8 ครั้ง และ หลังทำ ช่วง 27 พ.ย. 2561 - 28 ส.ค. 2562 อุบัติเหตุ 7 ครั้ง

‘เมืองเดินได้’ ขนาดใหญ่ ลดอุบัติเหตุทางถนนได้ มาพร้อมกับความสะดวกของ ‘จักรยาน’ เอื้อให้เกิด SME หน้าใหม่

ที่มาภาพ: Wikipedia

‘เขต Bronx’ ในรัฐนิวยอร์กสหรัฐอเมริกา รถชนคนเดินเท้าลดลง 67% จากการทำพื้นที่ยืนรอข้ามถนนที่ปลอดภัยสำหรับคนเดินเท้าซึ่งมีสัญญาณไฟนับถอยหลังสำหรับข้ามถนน, ขยายเลนจอดรถข้างถนนให้กว้างขึ้น แล้วรถโดยรวมก็วิ่งช้าลง 30%, โดยมีการทำทางสำหรับเลี้ยวโดยเฉพาะสำหรับรถยนต์และจักรยาน 

 

ที่มาภาพ: nyc.gov

โครงการสร้างทางจักรยานแยกจากทางรถยนต์บนถนนสายที่ 8, 9 ‘เขต Manhattan’ ที่รัฐนิวยอร์กในสหรัฐ มีผลให้สถิติการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนบนถนนสายที่ 8 (8th avenue) ซึ่งมีความยาว 12.6 กม. ลดลง 35% และถนนสายที่ 9 (9th avenue) ซึ่งมีความยาว 9.2 กม. ลดลงถึง 58% นอกจากลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุแล้ว การสร้างทางจักรยานยังสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจทำให้ร้านค้าปลีกริมถนนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น 49% [4][5]

 

ที่มาภาพ: ITDP

การออกแบบเมืองให้เป็นมิตรกับผู้คน (people-oriented) มากกว่ารถยนต์ ของ ‘เมืองบูเชิน (Bucheon City)’ ทางทิศตะวันตกของเกาหลีใต้ซึ่งอยู่ติดกับกรุงโซลเมืองหลวงของประเทศ บูเชินเป็นหนึ่งในแหล่งวัฒนธรรม เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม มีขนาดพื้นที่ 55 ตารางกิโลเมตร มีประชากรเกือบ 9 แสนคน มีความหนาแน่นของประชากรเป็นอันดับสองรองจากกรุงโซล บูเชินพัฒนาเมืองขึ้นมาจากการให้ความสำคัญกับรถยนต์เป็นหลักในการสัญจร (car-centric) ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ช่วงที่เกาหลีใต้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วคล้ายกับหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก และนำมาซึ่งปัญหารถติด ปัญหามลพิษทางอากาศ และการขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ

ปัญหาดังกล่าวทำให้ในปี 2010 รัฐบาลเมืองบูเชินได้ใช้นโยบายคมนาคมที่ให้ความสำคัญกับคนเดินเท้า คนปั่นจักรยาน คนใช้รถประจำทางและรถไฟ ตัวอย่างการให้ความสำคัญกับการเดินเท้า คือมิใช่แค่เพียงเพิ่มทางเท้า แต่เป็นการทำให้ทางเท้าน่าเดินมากขึ้นด้วย เช่น ทางเดินเท้าในเมืองบูเชินเชื่อมโยงกับห้องสมุดมากถึง 188 แห่ง โดยมีขนาดทางเดินเท้ารวมกันทั้งหมด 133,506 ตารางเมตร และพื้นที่สีเขียวรอบ ๆ ห้องสมุดเพิ่มขึ้นเกือบ 40% ล่าสุดมีพื้นที่สีเขียวดังกล่าวถึง 1,115,000 ตารางเมตร รวมถึงมีร้านกาแฟที่ให้บริการหนังสือตามริมถนนหลายแห่ง และมีห้องสมุดขนาดเล็กตามสถานีรถไฟใต้ดินที่วุ่นวาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายคมนาคมนี้ทำให้พบว่ามีคนใช้ห้องสมุดและขนส่งสาธารณะมากขึ้น

นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ยังมีการสร้างทางจักรยานไปแล้วเป็นระยะทาง 200 กม. และมีสถานีจอดจักรยานทุก ๆ รถไฟฟ้าใต้ดิน ตามหลัก ‘การเดินทางที่ไร้รอยต่อ’ (seamless connectivity)

ทางการของเมืองบูเชินยังได้บริหารระบบให้เช่าจักรยานและซ่อมจักรยาน 7 หน่วย ซึ่งได้ให้บริการแก่ประชาชน 15,892 คนในปี 2017 ซึ่งแตกต่างจากเมืองอื่น ๆ ที่สถานีจักรยานให้เช่าจะใช้เพียงเทคโนโลยี แต่สถานีของเมืองบูเชินจ้างพนักงานให้บริการประจำสถานีเช่าจักรยาน เพื่อเพิ่มปฏิสัมพันธ์ในสังคม นอกจากนั้น ใครที่ลงทะเบียนการปั่นจักรยานกับทางการเมืองบูเชินจะได้รับประกันอุบัติเหตุจากการปั่นจักรยานโดยอัตโนมัติ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การบาดเจ็บ ค่ารักษาพยาบาล จนถึงพิการและเสียชีวิต หลังทางการเมืองเริ่มใช้ระบบประกันนี้ในเดือน ก.พ. 2018 ก็มีการปั่นจักรยานเพิ่มขึ้นอีก 13% จากปี 2010 ที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายคมนาคมของเมืองบูเชินครั้งใหญ่ เมื่อมีระบบประกันนี้การปั่นจักรยานเพิ่มขึ้นอีกอย่างรวดเร็วเป็น 26%

โดยปริมาณการสัญจรของรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ (traffic volume) ในปี 2017 ลดลงจากปี 2010 ถึง 90% อุบัติเหตุทางถนนลดลงกว่า 600 ครั้ง นอกจากนั้นคุณภาพของอากาศดีขึ้น 13% โดยมีการตั้งเป้าว่าจะเพิ่มระยะทางจักรยานเป็น 250 กม. และจะจัดอบรมการปั่นจักรยานให้ประชาชนในเมืองบูเชินอีก 30,000 คน

เมืองบูเชินยังวางแผนที่จะเพิ่มห้องสมุดมากขึ้นให้มีห้องสมุดทุก ๆ 5 นาทีของการเดินเท้า และขยายโครงข่ายการเดินเท้าเพิ่มขึ้น โดยช่วงปี 2017-2019 โครงการพัฒนาเมืองบูเชินได้รางวัลมาแล้ว 135 รางวัล ซึ่งรวมถึงรางวัลทรงเกียรติด้านคมนาคมที่ยั่งยืนปี 2019 (Honourable Mention for the 2019 Sustainable Transport Award) โดยมีผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาศึกษาการพัฒนาเมืองบูเชิน [6]

นอกจากนั้นมีการศึกษาประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้มาจากเส้นทางจักรยานกับพื้นที่สีเขียวริมทาง โดยมีงานศึกษาปี 2006 ที่ Outer Banks รัฐนอร์ธแคโรไลนาในสหรัฐ ซึ่งมีระยะทางรวมกัน 90 กม. คาดว่าได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละ 60 ล้านดอลลาร์ สร้างงานกว่า 1,400 ตำแหน่ง จากการมีนักท่องเที่ยวมาปั่นจักรยานปีละกว่า 40,000 คน จากการพัฒนาเส้นทางจักรยานที่แวดล้อมด้วยพื้นที่สีเขียวตั้งแต่ปี 1987 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าต้นทุนปีละ 9 เท่าตัว [7]

 

อ้างอิง

[1] https://bit.ly/2lsmoXp
[2] http://tatp.or.th/tactical-urbanism-brainstorm/
[3] https://www.creativecitizen.com/udon-walkable-city/
[4] http://www.nyc.gov/html/dot/downloads/pdf/2012-10-measuring-the-street.pdf
[5] https://medium.com/@umapupphachai/walkable-city-cd0ccd99bcbc
[6] https://www.itdp.org/wp-content/uploads/2019/01/ST_30_FINAL_.pdf
[7] http://www.greenways.com/benefits-of-greenways

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: