สรุป 7 วันอันตรายการรณรงค์ขับขี่ปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,707 ครั้ง เสียชีวิต 333 ราย บาดเจ็บ 2,672 คน สาเหตุหลักขับรถเร็วและเมาแล้วขับ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ เชียงใหม่ (96 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด กรุงเทพมหานคร (22 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี (จังหวัดละ 93 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 9 จังหวัด ได้แก่ ตรัง นครนายก ปัตตานี พังงา ยะลา สตูล สมุทรสงคราม สุโขทัย และแพร่
5 ม.ค. 2565 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี แถลงผลการรณรงค์ขับขี่ปลอดภัยในเทศกาลปีใหม่วันสุดท้ายว่า สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 4 ม.ค. 2565 เกิดอุบัติเหตุ 209 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 21 ราย ผู้บาดเจ็บ 202 คน สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วัน ของการรณรงค์ (29 ธ.ค. 2564-4 ม.ค. 2565) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,707 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 333 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,672 คน
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 34.45 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 25.36 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 21.05 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.04 รถปิกอัพ/กระบะ ร้อยละ 6.31 อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 82.78 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.67 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 38.28 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 18.01 – 19.00 น. ร้อยละ 10.53 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 40 – 59 ปี ร้อยละ 17.49 นอกจากนั้น ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,904 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,417 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 388,227 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 78,340 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 23,131 ราย ไม่มีใบขับขี่ 20,023 ราย
นายบุญธรรม กล่าวว่า จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ เชียงใหม่ (96 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (22 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี (จังหวัดละ 93 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 7 วันของการรณรงค์มี 9 จังหวัด ได้แก่ ตรัง นครนายก ปัตตานี พังงา ยะลา สตูล สมุทรสงคราม สุโขทัย และแพร่
อย่างไรก็ตาม ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนยังคงมุ่งสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี พร้อมบูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถอดบทเรียน ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก โดยเฉพาะลักษณะกายภาพของถนน ความพร้อมด้านสภาพร่างกายและช่วงอายุของผู้ขับขี่ กิจกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุในห้วงเทศกาล และช่วงเวลาการเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งค้นหาปัญหาอุปสรรคและปัจจัยความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายภาพรวมของประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศให้เหลือ 12 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนภายในปี พ.ศ. 257 ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ