สรุป 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ 2566 อุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 264 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,208 คน

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 เม.ย. 2566 | อ่านแล้ว 25120 ครั้ง

สรุป 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ 2566 (11-17 เม.ย. 2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 264 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,208 คน ยอดสะสม 8,869 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 8,575 คดี ขับรถประมาท 23 คดี และคดีขับเสพ 270 คดี

18 เม.ย. 2566 นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 17 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ "ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ" เกิดอุบัติเหตุ 183 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 16 ราย ผู้บาดเจ็บ 202 คน

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 15.01 - 16.00 น. 9.63% ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 20 - 29 ปี 21.56%

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (13 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ จันทบุรี นครปฐม น่าน ราชุบรี และลำพูน (จังหวัดละ 2 ราย)

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,869 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 54,274 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 279,837 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 39,611 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 11,013 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 10,530 ราย

สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (วันที่ 11 - 17 เม.ย. 2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 264 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,208 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (68 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (22 ราย) และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (70 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต 2 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง พังงา

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงการรณรงค์ 7 วันแห่งความปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 พบว่า ในภาพรวมจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ และผู้บาดเจ็บ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 5.04% รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็ว ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุลดลง 1.55% ส่วนดื่มแล้วขับลดลง 3.26%

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลค่าเฉลี่ยสถิติอุบัติเหตุทางถนนย้อนหลัง 3 ปี ช่วงสงกรานต์ปีนี้ จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ ลดลง 13% ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงถึง 15% ซึ่งสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนน ยังคงเกิดจากการขับรถเร็วและดื่มแล้วขับ รวมถึงจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บ และเสียชีวิตสูงสุด เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่สวมหมวกนิรภัย

"แม้ว่าการดำเนินการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 จะสิ้นสุดลง แต่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่าย ยังต้องร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัยไร้อุบัติเหตุตลอดทั้งปี" นายบุญธรรม กล่าว

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด 45.36% ตัดหน้ากระชั้นชิด 16.94%

ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 80.10% ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง 45.90% ถนนใน อบต./หมู่บ้าน 29.51% บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นทางตรง 83.61%

ปิดยอด 7 วันอันตรายสงกรานต์ 2566 พบคดีเมาขับ 8,575 คดี

นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า วันที่ 17 เม.ย. เป็นวันสุดท้ายของการคุมเข้ม 7 วันอันตรายสงกรานต์ 2566 มีสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติทั้งสิ้น 1,910 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 1,870 คดี คิดเป็นร้อยละ 97.9 และคดีขับเสพ 40 คดี คิดเป็นร้อยละ 2.1

สำหรับยอดสะสม 7 วัน ตั้งวันที่ 11-17 เม.ย. มีจำนวน 8,869 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 8,575 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.69 คดีขับรถประมาท 23 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.26 คดีขับซิ่ง 1 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.01 และคดีขับเสพ 270 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.04

จังหวัดที่มีคดีขับรถในขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 530 คดี ร้อยเอ็ด 473 คดี และเชียงใหม่ 458 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมทั้ง 7 วันที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 มีจำนวน 7,141 คดี กับปี 2566 จำนวน 8,575 คดี พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรามีจำนวนเพิ่มขึ้น 1,434 คดี คิดเป็นร้อยละ 20.08

อธิบดีกรมคุมประพฤติ เน้นย้ำมาตรการคุมประพฤติกับผู้กระทำผิดที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ ในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุราทุกคน จะต้องผ่านการคัดกรองแบบประเมินการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงในการติดสุรา จะส่งเข้ารับการบำบัดรักษา

ส่วนผู้กระทำผิดที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำ ต้องเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟูแบบเข้มข้นในรูปแบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นระยะเวลา 3 วันต่อเนื่อง และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ เช่น รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และทำงานบริการสังคม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: